ยูนิลีเวอร์ ร่วมฟื้นฟูเกษตรกรรม ผ่านแบรนด์ “คนอร์” ส่งต่อโซลูชันนวัตกรรมการปลูกข้าวหอมมะลิครบวงจรสู่เกษตรกรภาคอีสาน ปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งปรับปรุงคุณภาพดิน ฟื้นฟูระบบนิเวศ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน เผยมีเกษตรกรร่วมโครงการแล้ว 217 คน ตั้งเป้าขยายเป็น 1,200 คนภายในปี 2570
นันทนา ขาวปลื้ม รองประธานกรรมการบริหารการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และวางแผนลูกค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ‘คนอร์’ ภายใต้ “ยูนิลีเวอร์” ให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน เริ่มต้นโครงการฟื้นฟูเกษตรกรรมครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบสำคัญของประเทศไทยอย่าง “ข้าวหอมมะลิ” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของคนอร์โจ๊ก โดยใช้หลักปฏิบัติด้านการเกษตรเพื่อฟื้นฟูที่ออกแบบและวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผสานนวัตกรรมเข้ากับแนวทางดั้งเดิม สร้างระบบการปลูกข้าวคุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
โครงการฟื้นฟูเกษตรกรรมยั่งยืนของคนอร์ มีแผนการดำเนินงานในระยะยาวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2567 จำนวน 217 คน และตั้งเป้าขยายเป็น 1,200 คน ภายในปี 2570 โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรในโครงการทุกคน นำหลักปฏิบัติด้านการเกษตรเพื่อฟื้นฟูไปปรับใช้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการฟื้นฟูคุณภาพดินให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ปรับปรุงคุณภาพดินโดยผ่านทางการปลูกพืชคลุมดิน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการเพิ่มผลผลิต
โครงการนี้ ร่วมพัฒนาโดยบริษัท พีดับบลิวเอส ซิสเท็ม อีโวลูชั่น จำกัด, บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด, ไลฟ์ลี่ฮู้ด เวนเจอร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นันทนา กล่าวว่า คนอร์ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตผู้บริโภคอย่างยั่งยืน และเชื่อว่าการเริ่มต้นฟื้นฟูเกษตรกรรมคือการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบโภชนาการที่ดี เพราะการดูแลและฟื้นฟูธรรมชาติในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกร จนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค ล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณภาพและยั่งยืน
โครงการเกษตรกรรมโดยใช้หลักปฏิบัติด้านการเกษตรเพื่อฟื้นฟูของคนอร์ มุ่งเน้นการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติโดยครอบคลุมหัวข้อสำคัญ ดังนี้
- หลักการเกษตรเพื่อการฟื้นฟู – ทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของเกษตรฟื้นฟู การจัดการคาร์บอน และการวิเคราะห์ลักษณะดิน
- พืชคลุมดินและการปลูกพืชหมุนเวียน – เรียนรู้เทคนิคการใช้พืชคลุมดิน และการวางแผนการปลูกพืชหมุนเวียนหลังการเก็บเกี่ยว
- ลดการไถพรวนดินและการจัดการฟางข้าว – เรียนรู้วิธีลดการไถพรวนและการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้ชีววิธีแบบผสมผสาน
- การใช้ปุ๋ยแบบเหมาะสมกับดินและข้าว – ทดสอบและวิเคราะห์ดินเพื่อใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับดินและข้าว
- การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน – การควบคุมศัตรูพืชและโรคโดยใช้วิธี
ทั้งหมดนี้ เกษตรกรจะได้ลงมือฝึกปฏิบัติจริง และวางแผนการเพาะปลูกแบบองค์รวม นอกจากนั้นยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแบบรายบุคคลแก่ผู้นำชุมชน เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดและขยายผลในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมติดตามผลในด้านต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการดำเนินงาน ทั้งในด้านการประเมินสุขภาพดิน การใช้น้ำ การกักเก็บคาร์บอน ผลผลิต และรายได้ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงาน จะตอบโจทย์จุดประสงค์ของโครงการ ในการนำหลักปฏิบัติด้านการเกษตรเพื่อฟื้นฟู มาปรับใช้เพื่อสร้างผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกร และสามารถนำวัตถุดิบมาสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของคนอร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง