กลุ่มบริษัทบางจาก ขับเคลื่อนระบบนิเวศคาร์บอนต่ำ ผนึกพันธมิตรสร้างความตระหนักรู้และการลงมือปฏิบัติทั้งภายในและภายนอกองค์ก ร ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นำเสนอระบบคำนวณก๊าซเรือนกระจกองค์กร ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
กลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club เปิดเผยว่า ภารกิจในการร่วมสร้างระบบนิเวศคาร์บอนต่ำของกลุ่มบริษัทบางจากในปี 2566 เพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด ผ่านการขับเคลื่อนงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรมีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ สร้างความตระหนักถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ กลไกคาร์บอน ทั้งระบบซื้อขาย ระบบภาษี และคาร์บอนเครดิต ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยทั้งระดับบุคคล ชุมชน SMEs และองค์กรธุรกิจ
ล่าสุดกลุ่มบริษัทบางจาก และ Carbon Markets Club ได้ร่วมกับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดโครงการ “Stay for Santa” นำร่องชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผู้เข้าพักโรงแรมในเครือ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป 4 แห่ง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึง 2 มกราคม 2567 เป็นระยะเวลา 10 คืน รวม 330 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และตลอดปี 2566 ได้ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคลและกิจกรรมต่าง ๆ รวมประมาณ 3,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ส่วนภายในองค์กร มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ให้พนักงานมีพฤติกรรมด้านลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการบันทึกพฤติกรรมด้าน Climate Action เช่น การลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง การคัดแยกขยะไปรีไซเคิล การใช้บริการรถสาธารณะ หรือลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เป็นต้น
สำหรับภายนอกองค์กร หลัก ๆ เป็นการดำเนินงานผ่าน Carbon Markets Club ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่ร่วมก่อตั้ง รวม 11 แห่งเมื่อปี 2564 และองค์กรสมาชิก รวมถึงพันธมิตรอื่น ๆ โดยดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูล โดย ณ สิ้นปี 2566 มีสมาชิกกว่า 750 ราย ทั้งประเภทบุคคลและองค์กร มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs และใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน RECs ผ่าน Marketplace ในเว็บไซต์ของ Carbon Markets Club รวมเกือบ 480,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและ RECs รวมกว่า 1.6 ล้านหน่วย คิดเป็นการปลูกต้นไม้เทียบเท่ากว่า 150 ล้านต้น พร้อมทั้งได้พัฒนาระบบและเปิดให้สมาชิกทดลองใช้ระบบการคำนวณก๊าซเรือนกระจกองค์กร หรือ Carbon Footprint Tracking for Organization (CFO) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาระบบการคำนวณมาจากมาตรฐาน ISO14064 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ได้จัดให้มีการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายบุคคลกับผู้บริหารระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นไป กว่า 20 คนเป็น “กลุ่มผู้บริหารไร้คาร์บอน” ตั้งแต่ปี 2565 รวมถึงการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับ 3 นักแบดมินตันระดับโลกจากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ “จิว” ลลินรัศฐ์ ไชยวรรณ และร่วมชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เช่น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก งานสัมมนาประจำปี Greenovative Forum การเป็นเจ้าภาพร่วมงานวิ่งโอลิมปิก Olympic Day Run ในจังหวัดน่าน มุกดาหารและกาญจนบุรี รวมถึงชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับการจัดงานและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 10 (ดอกไม้ระบายดอย: Palette of Flowers) ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) จ. เชียงราย
ล่าสุด ได้ร่วมจัดโครงการ Stay for Santa กับโรงแรม 4 แห่งในเครือเอราวัณ กรุ๊ป ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผู้เข้าพักระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึง 2 มกราคม 2567 เป็นระยะเวลา 10 คืน รวม 330 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้ตลอดทั้งปี 2566 กลุ่มบริษัทบางจาก และ Carbon Markets Club ได้ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับบุคคลและงานอีเว้นท์กับพันธมิตรต่าง ๆ รวมประมาณ 3,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
บริษัทฯ มีส่วนร่วมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาวะวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านกิจกรรมเผยแพร่ความรู้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการสัมมนา การรับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับการประชุมสัมมนาของหน่วยงานพันธมิตรและเวทีสาธารณะ การเผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ของ Carbon Markets Club รวมถึงความร่วมมือต่าง ๆ กับผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจของบริษัทฯ เช่น “เครือข่ายสหกรณ์ลดโลกร้อน” โดยบริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรติดตั้งโซลาร์เซลล์และพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตจากพลังงานหมุนเวียน ประมาณการติดตั้งรวม 1.7 เมกะวัตต์ “ข้าวลดโลกร้อน” ส่งเสริมสมาชิกเกษตรกรรักษ์โลกจากวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี นำข้าวลดโลกร้อนกว่า 40 ตัน มาเป็นสินค้าส่งเสริมการขายที่สถานีบริการน้ำมันบางจากที่ร่วมรายการในช่วงวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ที่จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน เป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ให้กับประชาชนได้รู้จักถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความภาคภูมิใจในกระบวนการผลิตที่รักษ์โลก
รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อน “เกาะหมากสู่เส้นทาง Low Carbon Destination” ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดกิจกรรมตามเป้าหมาย “เกาะหมากต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” (The Green Destination Top 100 of the World) ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดแผนงานสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
1) การศึกษาปริมาณปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจการสำคัญ
2) ส่งเสริมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน (การจัดการขยะ การใช้พลังงานสะอาด การขนส่ง ฯลฯ)
3) การฟื้นฟู-อนุรักษ์ระบบนิเวศทางบกและทางทะเล (Green and Blue Carbon) เพื่อดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังร่วมส่งเสริมให้เกิดการลงมือปฏิบัติโดยภาคประชาชนเพื่อร่วมลดโลกร้อน ด้วยการลดขยะจากต้นทาง ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการจัดการของเสียในชีวิตประจำวัน เพื่อขับเคลื่อน BCG Economy ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกกับลูกค้าและประชาชนในการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดจุดรับหรือจุดรวบรวมของเสียผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน
เช่น โครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” รับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) โครงการ “ขยะกำพร้า” ร่วมกับ N15 Technology ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก โครงการฮาบิโตะ (T77) และสำนักงานและโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง โครงการ“เก็บกล่องสร้างบ้าน เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” กับ บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด รวบรวมกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีเพื่อรีไซเคิล หรือการจัดทำโครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” โครงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะในระดับโรงเรียนโดยมูลนิธิใบไม้ปันสุข เป็นต้น
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน ที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกการเติบโตของกลุ่มบริษัทบางจากยังคงรักษาความสมดุลของมูลค่าและคุณค่า การเข้าถึงและความมั่นคงทางด้านพลังงานไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ในปี 2593 และการมีรากฐานที่มั่นคงที่เกิดจากการผสานประโยชน์ของธุรกิจด้วยการ synergy ระหว่างกัน
นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังเป็นการเสริมคุณค่าสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ชุมชน สังคมได้ใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศและสังคมโลกในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อร่วมรับมือกับภาวะโลกเดือดซึ่งเป็นวิกฤตเร่งด่วนในระดับโลก