กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย มูลนิธิฮอนด้าฯ ต่อยอด “สร้างฝายภูมิปัญญาและปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง” ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ปีที่ 7 เพิ่มผืนป่าหมู่บ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ จ.น่านสร้างที่ทำกินเกษตรกร พร้อมสานต่อสู่ผืนป่าจังหวัดแพร่
พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย มูลนิธิออนด้าประเทศไทย กล่าวว่า กองทุนฮอนด้าฯ ได้ต่อยอดความสำเร็จของการดำเนินงานบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ที่นำมาซึ่งพื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน มีน้ำสำรองใช้ได้เพียงพอตลอดทั้งปี โดยจัดทำกิจกรรม“สร้างฝายภูมิปัญญาและปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง” ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เป็นปีที่ 7 ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
กองทุนฮอนด้าฯ ยังได้ขยายผลเสริมความมั่นคงทางน้ำในพื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูนเพิ่มเติม และขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนนาบงและบ้านวังปะ ซึ่งประสบปัญหาน้ำหลาก ดินถล่ม เส้นทางสัญจรโดนตัดขาด มีปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในงานเกษตรกรรมและเพื่อการอุปโภค เนื่องจากขาดแหล่งกักเก็บน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน
กองทุนฮอนด้าฯ เริ่มก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมมาตั้งแต่ปี 2555 โดยเข้ามาสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ พร้อมทั้งการร่วมลงพื้นที่ศึกษาปัญหาร่วมกัน ตลอดการขับเคลื่อนโครงการกว่า 7 ปี ผ่านงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านทั้ง 5 พื้นที่ได้กว่า 1.44 แสนลูกบาศก์เมตร สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่การเกษตรได้กว่า 7,643 ไร่ และสร้างผลกระทบเชิงบวกไปสู่ 2,198 ครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนประชากรเกือบ 6 พันคน
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน บ้านนาบง และบ้านวังปะ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 9.2 ล้านบาท (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2566) (ลุ่มน้ำน่าน กองทุนสนับสนุนรวม 20.4 ล้านบาท) พร้อมกับการทำกิจกรรมสร้างฝายภูมิปัญญา 3 ฝาย และปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองเพิ่มเติม จำนวนรวม 1,000 ต้นเพื่อช่วยชะลอน้ำและเสริมความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ให้คงความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ประชากรมีน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืน
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชปถัมภ์ กล่าวว่า ความสำเร็จจากพื้นที่บ้านดงผาปูน เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ ชุมชนบ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ ที่ช่วยกันพัฒนาและขยายผลไปสู่การช่วยแก้ปัญหาให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ยึดกรอบคิด กรอบงาน และหลักการทรงงาน ที่สอนให้ประชาชนรู้จักการพึ่งตนเอง คิดให้เชื่อมโยงกัน และใช้ธรรมชาติแก้ธรรมชาติทำงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ หรือภูมิสังคม ทำให้เกิดความชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ล่าสุด พื้นที่บ้านดงผาปูน ได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ’ ลำดับที่ 27 จากจำนวน 28 แห่ง ในฐานะชุมชนต้นแบบสำหรับการขยายผลให้กับชุมชนอื่นๆ ในการมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง โดยเตรียมนำโมเดลขยายไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ทั้งใน จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ และปราจีนบุรี พร้อมเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย 1. เพื่อชะลอน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นของป่าชุมชน จำนวน 800 ไร่ 2. เพื่ออนุรักษ์และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำท้องถิ่น 3. เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น 4. เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้แก่ป่าและสัตว์ป่า และ 5. เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเสริมอาชีพให้คนในท้องถิ่น
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ด้านการนำประสบการณ์จัดการน้ำและพัฒนาน้ำในชุมชนที่ประสบความสำเร็จ มาขยายผลการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนไปยังชุมชนอื่น จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน หนึ่งในพื้นที่ได้ดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ
พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากการร่วมกันของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจากเดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำ มีความมั่นคงน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร จนเป็นต้นแบบฟื้นฟูเขาหัวโล้น ด้วยไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ชาวบ้านขายผลิตภัณฑ์ได้รายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว รวมทั้งมีกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืนและตั้งกองทุนหมู่บ้าน เกิดเป็นเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ