ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานใหม่การค้าโลก ที่ต้องปฏิบัติ

admin
1 0

Sharing is caring!

Read Time:6 Minute, 58 Second

การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนไม่ใช่แค่ “ทางเลือก” แต่ได้กลายเป็น “มาตรฐานใหม่” ของโลกการเงิน นักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ต่างให้ความสำคัญกับ Environment, Social, และ Governance หรือ ESG  มากขึ้น

  • ความยั่งยืน คือ ความได้เปรียบของภาคธุรกิจ

การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน กลายเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในเวลานี้คือ ข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่จะเก็บภาษีสินค้าส่งออกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

กลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM เป็นมาตรการที่มุ่งปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า ให้สอดคล้องกับราคาคาร์บอนที่ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปต้องจ่าย ภายใต้ระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU Emissions Trading System: EU ETS) โดยมีระยะนำร่อง ระหว่าง 1 ตุลาคม 2023– 31 ธันวาคม 2025 ที่ผู้นำเข้าสินค้าในสหภาพยุโรปต้องรายงานปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ แต่ยังไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอนในช่วงนี้ หลังจากนั้น ตั้งแต่ 1 มกราคม 2026 จะเริ่มเก็บภาษี ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการนำเข้าและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้านำเข้าด้วย

สำหรับประเทศไทย CBAM อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าบางประเภทไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในกระบวนการผลิต เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และซีเมนต์ ผู้ส่งออกไทยควรเตรียมพร้อมในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการนี้

นอกจาก CBAM แล้ว ยังมีกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading System: ETS) ที่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องซื้อหรือขายโควต้าการปล่อยก๊าซ รวมไปถึง California Cap-and-Trade Program ของสหรัฐฯอเมริกา เป็นระบบภายในรัฐที่ควบคุมการปล่อยก๊าซของภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน โดยประเทศที่ใช้ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ได้แก่ สวีเดน ภาษีคาร์บอนสูงที่สุดในโลก, แคนาดา, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยคิดภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซ CO₂ ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีมาตรการด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ออกมาเป็นกฎกติกาใหม่ อาทิ Clean Competition Act (สหรัฐฯ – ร่างกฎหมาย): เสนอให้มีมาตรการที่คล้ายกับ CBAM ของยุโรป, Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA): ข้อตกลงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดให้สายการบินชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ

จะเห็นได้ว่า กฎหมายและข้อบังคับด้านภาษีคาร์บอนมีหลายรูปแบบ ทั้งภาษีโดยตรง (Carbon Tax) ระบบซื้อขายโควต้าคาร์บอน (ETS) และมาตรการข้ามพรมแดน (CBAM) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  • ผู้บริโภคขานรับ ยินดีจ่ายเพิ่ม

ฝั่งผู้บริโภค จะเห็นได้ว่ากว่า 73%. ของผู้บริโภคทั่วโลก ยินดีจ่ายเพิ่ม สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจากการสำรวจของ Kantar’s Sustainability Sector Index 2023 พบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ผู้บริโภคไทย 76% ให้ความสนใจกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างระหว่างค่านิยมและการกระทำจริง แม้ว่าผู้บริโภค 91% อยากใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน แต่มีเพียง 42% ที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจริงจัง เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการหรือไม่สามารถประนีประนอมเรื่องเวลา งบประมาณ รสชาติ คุณภาพ และความเพลิดเพลินจากผลิตภัณฑ์ ให้กับความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวได้

  • 3 มาตรการ หนุน 3 อุตสาหกรรมหลัก

ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ ในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) ได้ให้ความสำคัญกับกับเรื่องของความยั่งยืนด้านการลงทุน โดยขับเคลื่อนและสนับสนุนการลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติ ภายใต้แนวคิด Green Industry & Sustainable Business เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียว โดย BOI ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่สนับสนุนธุรกิจสีเขียว ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สนับสนุนภาคธุรกิจให้ดำเนินการภายใต้แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของ BOI ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสะอาด พลังงานหมุนเวียน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินนโยบายของ BOI ไม่เพียงช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : BOI ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับธุรกิจที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวภาพ การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรีไซเคิลและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

2. การสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาดและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว : BOI สนับสนุนการพัฒนาและนำเข้าเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร

3. การส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) : หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ BOI คือการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดของเสียและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งเน้นไปที่ การนำของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ยั่งยืน และการสนับสนุนธุรกิจที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

BOI ได้ออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่:

1. พลังงานสะอาด (Renewable Energy & Energy Storage Systems – ESS) โดยให้การสนับสนุนโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ ลม และไฮโดรเจน รวมทั้งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี

2. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry & Green Transport) ให้การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV และสถานีชาร์จพลังงาน รวมถึงแบตเตอรี่ EV โดยประเทศไทยตั้งเป้าเป็นฐานการผลิต EV แห่งเอเชีย พร้อมมาตรการลดภาษีนำเข้าเพื่อดึงดูดนักลงทุน

3. การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing & Circular Economy) ส่งเสริมให้โรงงานและอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินการตามหลัก BCG (Bio-Circular-Green Economy)

  • แต้มต่อของธุรกิจสีเขียว 

จะเห็นได้ว่า การลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นอกจากทำให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้นแล้ว ยังถือเป็นแต้มต่อ ที่ช่วยให้ได้รับการสนับสนุนจาก BOI ในการลดต้นทุนและขยายโอกาสทางธุรกิจ ลดความเสี่ยงจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าแบรนด์ ทำให้แบรนด์ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากขึ้น

โลกปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เราจะได้เห็นการลงทุนสีเขียว (Green Investment Trends 2024) มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากนโยบายภาครัฐและความต้องการของตลาดโลก แหล่งเงินทุนสีเขียว ขยายตัวจาก Green Bonds และ ESG Funds โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ พลังงานสะอาด EVs เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน และเกษตรกรรมยั่งยืน อย่างไรก็ตาม โอกาสทางธุรกิจที่มีมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องต้นทุนและนโยบาย

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินนโยบายของ BOI ไม่เพียงแต่ช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
100 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ค่ำคืนแห่งเสียงเพลงและการให้: “Fly Green Charity Concert” หาดใหญ่ 24 เม.ย. นี้

เมืองหาดใหญ่เตรียมต้อนรับงานดนตรีการกุศล “Fly Green Charity Concert” ที่จะจัดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 24 เมษายนนี้ ณ ร้าน Gasoline โดยรายได้สุทธิจากการจำหน่ายบัตรจะถูกนำไปสนับสนุนโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากล หาดใหญ่ และมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนของชุมชนในระยะยาว

You May Like