ซีพี-เมจิ สร้างความตระหนักรู้ผู้บริโภค ขวดขุ่นจากพลาสติก HPDE สามารถรีไซเคิลได้ ผนึก CirPlas ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะพลาสติก จัดแคมเปญนำร่อง “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” ชวนผู้บริโภคส่งแกลลอนนม รีไซเคิลเป็นถังขยะ
ชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายด้านความยั่งยืนของ ซีพี-เมจิ ภายใต้แนวคิด “เพิ่มคุณค่าชีวิต – Enriching Life” ด้วยการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) หรือพลาสติกแบบขุ่น ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์นมเมจิ และเป็นประเเภทสินค้าที่ขายดีที่สุด ซีพี -เมจิ จึงเปิดตัวโครงการ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันส่งแกลลอนนมใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง และเพิ่มคุณค่าด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อชุมชน
“ซีพี-เมจิ อยู่มากว่า 30 ปีแล้ว ทำให้มองถึงการทำธุรกิจในระยะยาว มองว่าเราจะอยู่ไม่ได้ถ้าทุกคนอยู่ไม่ได้ ดังนั้น จึงวางนโยบายภายใต้กรอบความยั่งยืนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท โดยมีแนวทาง 3 เสาหลัก คือ สุขภาพ การเพิ่มคุณค่าสังคม และการเพิ่มคุณค่าสิ่งแวดล้อม”
การเพิ่มคุณค่าด้านสุขภาพ คือ ทำอย่างไรให้มีผลิตภัณฑ์ดี เพื่อส่งเสริมคุณภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค พัฒนาและส่งเสริมการเติบโตของลูกค้า ควบคู่กับการเพิ่มคุณค่าให้สังคม เพราะเราอยู่คนเดียวไม่ได้ การดำเนินธุรกิจมีตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกร ไปจนถึงปลายน้ำ คือ พันธมิตรธุรกิจ ช่องทางขาย ร้านกาแฟ ที่ซีพี -เมจิ มีการพัฒนาส่งเสริมธุรกิจกาแฟ รวมไปถึงการดูแลชุมชน
ส่วนการเพิ่มคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ซีพี-เมจิ ดำเนินการอยู่แล้วตั้งแต่ภายในองค์กรและ in process ของการผลิต มีการใช้พลังงานทางเลือก จัดการคุณภาพน้ำ ลดการใช้น้ำ รีไซเคิลน้ำ ปลูกป่า และการจัดการขยะ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรีไซขุ่น
บรรจุภัณฑ์ของ ซีพี-เมจิ เป็นพลาสติกขุ่น HPDE เรามองว่ายิ่งขายมาก ก็ทำให้มีบรรจุภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคเยอะ ในขณะที่คนยังรู้ไม่มากว่าขวดขุ่นรีไซเคิลได้ ซีพี-เมจิ จึงอยากรณรงค์ในเรื่องการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะแบบขวดขุ่น ซึ่ง ซีพี-เมจิ เป็นเจ้าของยอดขายอันดับ 1
ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร CirPlas ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะพลาสติก กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 2.76 ล้านตัน โดยขยะมากกว่า 75% ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งมักจะถูกนำไปฝังกลบ หรือเผาทำลาย ส่งผลให้เกิดการหลุดรอด และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่วนพลาสติกที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลสูงที่สุดคือพลาสติกประเภท PET อยู่ที่ 70% รองลงมาคือ PP 25% และ บรรจุภัณฑ์ประเภท HDPE อยู่ที่ 20%
“เราใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นของที่หาง่ายและราคาจับต้องได้ คุณภาพก็ดี คนกรุงเทพฯ สร้างขยะวันละ 2-3 กิโลกรัมต่อคน และสร้างขยะพลาสติกเฉลี่ยคนละ 1 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ถูกต้องจะไม่มีปัญหา”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแหล่งกำจัดขยะที่ถูกต้องอยู่ราว 5% ของทั้งประเทศ มีทั้งหมดราว 111 แห่ง และที่บริหารจัดการไม่ถูกต้องอีกราว 1,963 แห่ง
ชาลินี กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง เราตั้งใจอยากให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาทำประโยชน์ นำร่องด้วยถังขยะเพราะได้ใช้จริงกลับมาตอบโจทย์เรื่องแยกขยะ และลดขยะ ซึ่งบริษัทฯ จะส่งมอบต่อให้กับสระบุรี เนื่องจากเป็นพิ้นที่ที่โรงงานของซีพี-เมจิ ตั้งอยู่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลชุมชนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็จะมีการสอนให้ความรุ้กับน้องๆ ในโรงเรียนต่างๆ
ส่วนการเปิดตัวแคมเปญที่งานไทยแลนด์ คอฟฟี่เฟส ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ เพราะภายในงานมีร้านกาแฟจำนวนมากที่ใช้สินค้าของซีพี-เมจิ โดยบริษัทได้ร่วมมือกับเดอะคลาวด์ผู้จัดงาน เพื่อเก้บแกลลอนนมที่ใช้ในงานมาเป็นสารตั้งต้นของแคมเปญ
ส่วนประชาชนทั่วไป สามารถนำแกลลอนพลาสติกไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้งของ CirPlas กว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทฯ จะทำการเก็บและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นถังขยะต่อไป โดยลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลของจุดรับทิ้งได้ที่ เฟสบุค CirPlas หรือ Line Official (@cirplas) และลูกค้าสามารถสังเกตเครื่องหมายแคมเปญ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่นได้ทุกจุดรับทิ้งแกลลอน
โครงการนำร่องนี้ จะดำเนินการประมาณ 3 เดือน โดยปริมาณแกลลอนที่ต้องการอยู่ที่ 15,000 ใบ เพื่อทำถังขยะ 500 ใบ คิดเป็นคอนเทนต์รีไซเคิลประมาณ 20% และเมื่อจบโครงการนำร่อง จะมีการเดินหน้าเฟสต่อไปอีกแน่นอน ซึ่งจะมีการวางแผนอีกครั้ง เพื่อที่จะไปทำของที่ได้ใช้งานจริงไม่อยากทำมาแล้วมาเป็นขยะต่อไป โดยปัจจุบันซีพี-เมจิมีปริมาณและแกลลอนนมเข้าสู่ตลาดประมาณ 60 ล้านขวด