หลังจากรู้แล้วว่า AOT มีกลยุทธ์และนโยบายชัดเจน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน “ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ยังได้พูดถึง กระบวนการลด Carbon Emission ของ AOT ที่ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน
เริ่มจาก Airport Carbon Accreditation Program ซึ่งสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International : ACI) เป็นผู้ออกมาตรการ และให้ระดับขั้นของสนามบิน โดยสนามบินสุวรรณูมิได้ระดับ 3 แต่ถ้าจะเป็น Green Airport ต้องอยู่ในระดับ 4+ ขึ้นไป ซึ่งถ้าจะให้ได้เป็น Green Airport สนามบินของไทยจะต้องกลับไปปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ให้ได้เท่ากับเมื่อปี ค.ศ. 2020 ซึ่งถ้าเราไม่ทำ เขาก็จะมีการลดไฟล์บินที่จะมาในสนามบินไทย เพราะไม่เป็น Green Airport และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ AOT ต้องทำให้เป็น Carbon Neutrality ภายใน 2 ปีนี้
“ดร.กีรติ” ให้รายละเอียดว่า สิ่งที่ AOT ทำ เริ่มจากภายในองค์กรก่อน เป้าหมายแรกคือ ทุกแหล่งพลังงานที่ใช้ในท่าอากาศยาน ที่ใช้ในตอนกลางวันทั้งหมด ต้องมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ 100%
การที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ AOT ได้ดำเนินการติดตั้งโซล่าเซลบนหลังคาอาคาร และกำลังขยายไปจุดอื่นๆ ที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ หรือลานข้างรันเวย์สนามบิน เพื่อนำพลังงานมาใช้ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนกำลังศึกษาแนวทางกับผู้ผลิตพลังงาน เพื่อนำไฟฟ้ามาแยกก๊าซไฮโดรเจน แล้วเก็บไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้ในเวลากลางคืน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีแล้ว เพียงแต่รอเรื่องปริมาณการใช้ที่มากขึ้นเพื่อให้ต้นทุนถูกลง
“ดร.กีรติ” บอกว่า ตอนนี้ค่าไฟทั้งหมดของสนามบิน อยู่ที่เดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าการติดตั้งทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย จะทำให้สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ เพราะพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าพลังงานจากกริด 30% นอกจากได้เรื่องการลดคาร์บอนแล้ว ยังได้เรื่องการลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าลงไปเหลือ 700 ล้านบาทต่อเดือนอีกด้วย
นอกจากนี้ ภายใน 4 ปี รถยนต์ที่เกี่ยวกับการให้บริการในสนามบินทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ราว 4,000 คัน ต้องมาจากรถไฟฟ้า รวมถึงรถแท็กซี่ หรือรถลีมูซีน ที่ให้บริการผู้โดยสารอีกราว 4,000 คัน และอื่นๆ อีกกว่า 1,000 คัน ก็ต้องเป็นรถไฟฟ้าด้วย โดยแท็กซี่ที่มาต่อทะเบียนใหม่กับ AOT ถ้าเกิน 12 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า และ AOT กำลังคุยกับบริษัทลูกของ ปตท.จัดหาแท็กซี่ให้เช่า เพื่อให้รายเล็กๆ เช่าในราคาเดิม คือประมาณ 800-1,000 บาทต่อวัน
ส่วนอีกเรื่องสำคัญ คือ สนามบินไทยต้องมี Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ให้เติม 5% ภายใน 4 ปี
เนื่องจากการส่งเสริมและผลักดันของ CORSIA ซึ่งเป็นมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศว่า ได้ทำสนธิสัญญาว่าภาคการบิน นอกจากต้องเป็น Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2030 แล้ว ตอนนี้สายการบินต่างๆ ยังถูกจำกัดการใช้เชื้อเพลิงการบิน (Aviation Fuel) ไม่ให้มีปริมาณเกิน ค.ศ.2020 ด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า เชื้อเพลิงการบินที่ใช้เพิ่มขึ้น ต้องเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ SAF เท่านั้น
ปัจจุบัน ไทยยังไม่มีการผลิต SAF ใช้เอง หากจะใช้ ต้องซื้อจากสิงคโปร์ โดยราคา SAF สูงกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในปัจจุบันถึง 8 เท่า ดังนั้น AOT จึงไปร่วมกับฝ่ายการผลิตเพื่อผลิตและจัดหา SAF ที่ผลิตเองในประเทศไทย เพราะไทยมีวัตถุดิบในการผลิตอยู่แล้ว ทั้งน้ำมันพืชใช้แล้วและพืชที่ผลิตน้ำมัน
หากไทยผลิต SAF ได้เอง จะทำให้ราคา SAF แพงกว่าเชื้อเพลิวปัจจุบันประมาณ 2.2 เท่า ซึ่งถูกลงมาก และถูกกว่าการเสียภาษี
สำหรับข้อตกลงปัจจุบัน ภายในปี 2025 เชื้อเพลิงต้องมี SAF ผสม 2% คือ ภายในน้ำมัน 100 ลิตร ต้องมี SAF ผสมอยู่ 2 ลิตร ปี 2030 ต้องมี 5% และปี 2050 ต้องมี 63% และมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“นี่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส หากเราสามารถผลิต SAF ได้เอง ในราคาที่เหมาะสม จะทำให้ธุรกิจการบินของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ จากการขายให้กับสายการบินอื่นๆ “
“ดร.กีรติ” บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ต้องมีความรู้ความเข้าใจและต้องดำเนินการ เพราะมันเป็นวิกฤตที่สร้างโอกาสได้มหาศาล เพียงแต่ต้องหาแง่มุมที่เราได้เปรียบให้เจอ และทาง AOT ได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว
“สิ่งที่เราต้องบริหารจัดการกับคาร์บอน ต้องไม่ใช่แค่รับนโยบาย เราต้องทำให้ค่าใช้จ่ายเราถูกลง ตอนนี้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถูกกว่าปกติ 35% การบริหาร Net Zero Carbon มันคือแง่มุมในการมอง เราทำให้องค์กรเดินได้ ธุรกิจเราก็เดินได้ด้วย”
ส่วนการรับบริหารจัดการสนามบินเพิ่มอีก 3 แห่ง AOT มีความพร้อมสนองนโยบายรัฐ เพื่อบริหารการสนามบิน กระบี่ อุดร และ บุรีรัมย์ ตอนนี้รอมติ ครม. และกำลังหารือ เฟส 2 แล้ว
“ดร.กีรติ” กล่าวย้ำว่า หน้าที่ของ AOT นอกจากบริหารสนามบินหลักของประเทศแล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมด้านนโยบาย เพื่อให้สนามบินของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างมั่นคง
อ่าน Ep.1