การเติบโตที่รวดเร็วของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและการเข้าสู่โลกออนไลน์ เป็นปัจจัยหลักที่กำลังเปลี่ยนแปลงบริบทการสื่อสารและการตลาดของภาคธุรกิจในปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA รายงานว่า ปี 2561 คนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วถึง 47.5 ล้านคน หรือกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เวลาการอยู่กับโลกโซเชียลก็ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย อายุระหว่าง 18-37 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมากับเทคโนโลยีนั้น ใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตสูงถึง 10-11 ชั่วโมงต่อวัน
มูลค่าการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซก็เติบโตขึ้นก้าวกระโดดเป็นเงาตามตัว โดยปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 3.15 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.04% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้วหรือในปี 2557 ที่มีมูลค่า 2.03 ล้านล้านบาท และแน่นอนว่าเมื่อชุมชนในโลกออนไลน์ขยายใหญ่ขึ้น รูปแบบการสื่อสารการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลง เกิดการตลาดรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Influencer Marketing” เป็นจุดกำเนิดของบล็อกเกอร์ และ ยูทูบเบอร์ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล(Influencer) ในการโฆษณาสินค้า
นอกจากเหล่าดารานักแสดงแล้ว ยังมีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่ “สร้างตัวตน” ให้ปรากฏขึ้นในโลกโซเชียล แตกต่างกันออกไปทั้งรูปแบบและคอนเทนต์ ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง วันนี้เราจะพาไปพูดคุยกับเหล่าบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีคนติดตามหลักแสน หรือหลักล้านคนว่านอกจากใจรัก มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการนำเสนองานแล้วมีเคล็ดลับอะไรอีกบ้าง
“อคิร วงศ์เซ็ง” หรือ ว่านไฉ เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อาสาพาไปหลง” ที่มีคนติดตามกว่า 1.2 ล้านคน กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่คอนเทนต์นำสื่อ หากคอนเทนต์ดีแล้วคุณจะเป็นใครก็ได้ เพียงแค่นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดออกมา ซึ่งการทำให้ตัวเองดังในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ที่ยากคือจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ยาวในโลกโซเชียล หลายคนให้ความสนใจประเด็นผลตอบแทนที่ได้รับ แต่กุญแจสำคัญของความสำเร็จคือการทำในสิ่งที่ชอบและเนื้อหาต้องดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกระแสเพียงช่วงเดียวเท่านั้น และเมื่อมีชื่อเสียงแล้วต้องสื่อในสิ่งที่ถูกต้อง รับผิดชอบต่อสังคม
เช่นเดียวกับ “อาชิตา ศิริภิญญานนท์” หรือ อาชิ บิวตี้ บล็อกเกอร์ ที่มีผู้ติดตามเธอผ่านเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ยูทูบ อินสตาแกรม กว่า 1.2 ล้านคน ในชื่อ “Archita Station” เน้นเกี่ยวกับการแต่งหน้า ทำผมซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ชอบซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ดึงให้คนที่ติดตามอินไปด้วย อาชิตา กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการเป็นบล็อกเกอร์คือความจริงใจ ตรงไปตรงมา สินค้าทุกตัวที่จะรับรีวิวต้องได้ลองใช้ทุกตัวก่อน กรณีที่สินค้าไม่ดีจริงก็ต้องคืนของและไม่รับรีวิว จะทำให้อยู่ได้ยาว ถ้าทำอะไรที่เป็นกระแสมากๆ จะอยู่เพียงชั่วคราว แต่ในความตรงไปตรงมาและความจริงใจกับคนดูก็มีประเด็นที่บิวตี้ บล็อกเกอร์จะต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการรีวิวที่สร้างผลกระทบทางลบต่อชื่อเสียงของสินค้าอาจมีกรณีถูกฟ้องร้องได้ เช่นตัวเธอเองก็เคยมีประสบการณ์รีวิวเครื่องสำอางที่ลองซื้อมาใช้เองแล้วได้รับจดหมายฟ้องร้องมาถึงบ้านมาแล้ว
นอกจากการสร้างตัวตนด้วยเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจของคนแต่ละไลฟ์สไตล์แล้ว อีกมุมที่สามารถทำให้บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์หน้าใหม่แทรกตัวเข้ามาในวงการได้ นอกจากการผลิตเนื้อหาตามความชอบแล้วก็คือต้องเป็นคอนเทนต์ที่ยังไม่มีอยู่ในตลาดมาก และมีจุดขายที่สามารถดึงคนเข้ามาติดตาม
เช่นเฟซบุ๊กแฟนเพจ “หมาจ๋า” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความน่ารักของน้องหมาผ่านลายเส้นการวาดการ์ตูนของ “ณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ” หรือ นัด ที่ถึงตอนนี้มีคนติดตามแล้วเกือบ 1 ล้านคน นัด เล่าว่า เริ่มต้นเพจจากความเป็นคนชอบวาดรูปและชอบสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะน้องหมา และเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วยังไม่มีเพจเกี่ยวกับหมามากนัก สิ่งที่ถือเป็นจุดขายของ “หมาจ๋า” คือการบอกเล่าเรื่องราวที่ดี แม้ 70% ของเนื้อหาการ์ตูนเป็นเรื่องตลก แต่เมื่อคนอ่านเรื่องตลกแล้วเขาก็มีความสุข เป็นพลังบวกที่คนทำเพจส่งต่อให้คนอ่าน อยากติดตามและส่งต่อให้กับคนอื่นๆ แม้จะไม่ได้โด่งดังชั่วข้ามคืน แต่ก็ค่อยๆ เติบโต และอยู่ได้ยาว
“การทำเนื้อหาสื่อออกไป มันเหมือนคำพูดเราพูดออกไปให้คนอื่นฟัง ถ้ามันเป็นเรื่องดีมันก็ปล่อยพลังงานดีๆออกไป คนที่รับเขาก็เอาไปส่งต่อ เพจของเราจุดยืนหลัก ๆ คือทำให้คนคิดถึงคำว่าใจเขาใจเรา นัดวาดการ์ตูนออกมาเหมือนหมาพูดได้และมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา” ณัฐวีร์ กล่าว
นอกจากนี้ การแสดงความรับผิดชอบต่อคนในสังคมถือเป็นหลักการสำคัญที่กลุ่มผู้สร้างคอนเทนต์คนดังเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็นที่ยอมรับและอยู่ในโลกโซเชียลได้ยืนยาว ทวีศักดิ์ เพ็ชรปราณีนุกูล หรือ หมูเติ้ล หนึ่งในสมาชิกที่ร่วมผลิตคอนเทนต์ซิตคอม แนวล้อเลียน หนัง ซีรีส์ เหตุการณ์สำคัญในสังคม และตอนนี้ขยับขึ้นม้าล้อเลียนกระแสการเมืองบ้าง ผ่านช่องยูทูบชื่อ “Buffet Channel” มีผู้ติดตามพวกเขาเกือบ 1 ล้านคน ก็เห็นว่ากรณีของพวกเขาเองแม้จะล้อเลียนค่อนข้างแรงแต่ก็อยู่ในขอบเขตศีลธรรมและคำนึงถึงจิตใจคนบางกลุ่มที่อาจถูกกระทบจากการแสดงของพวกเขา ซึ่งจากการทำคอนเทนต์มา 8-9 ปี ก็เคยพลาดจากการแสดงซิตคอมล้อเลียนเหตุการณ์ปัญหาต่าง ๆ บนรถตู้โดยสาร และมีฉากการใช้คำพูดที่สุ่มเสี่ยงต่อการล่วงเกินผู้หญิง มีบางคอมเมนต์ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ตลกเพราะ บางคนที่เคยถูกคุกคามทางเพศอาจเป็นเรื่องกระทบจิตใจ จึงตัดสินใจลบคลิปนั้นออกจากยูทูบไป
ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวว่า การดูแลสังคมออนไลน์นั้น ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะคนที่เป็นสื่อเท่านั้น แต่คนรับสื่อเองก็ต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ รู้จักประเมินค่าเช่นกันว่าสิ่งที่กำลังรับอยู่ได้ประโยชน์หรือเป็นโทษ ต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้ง 2 ส่วน “พลเมืองที่เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบันข้อดีคือ ตอนนี้เขาได้รับสื่อที่หลากหลายมาก แต่เมื่อรับแล้วก็ต้องประเมินว่าสิ่งที่ Influencer พูดมามีอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรเป็นข้อคิดเห็น อะไรที่เป็นประโยชน์ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ ต้องคิดแยกแยะด้วยตัวเรา เช่นอันไหนที่เป็น hate speech สร้างความเกลียดชัง ต้องตัดสินใจได้ควรจะทำอย่างไรจะรีพอร์ตได้หรือไม่ หรือเจอกรณีแบรนด์สินค้าไม่ดี ไม่ได้รับรองจาก อย. ก็ยังรับรีวิวต้องรู้ว่าร้องเรียนได้หรือไม่และที่ไหน” ผศ.ดร.ชนัญสรา กล่าว
ทั้งหมดเป็นข้อคิดและเทคนิคการสร้างตัวตนของเหล่าบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ ที่สามารถสร้างตัวตนจนก้าวขึ้นมาเป็น Influencer แถวหน้าของเมืองไทย มีชื่อเสียงสามารถสร้างรายได้อยู่ในโลกโซเชียลที่โตวันโตคืนกันแบบยาวๆ ใครจะลองเอาเทคนิคของพวกเขาไปลองปรับใช้ก็ไม่เสียหลาย แต่ที่ลืมไม่ได้เลยคือ ช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์ให้น่าอยู่ โดยการผลิตคอนเทนต์และสร้างตัวตนอย่างรับผิดชอบ เมื่อมีชื่อเสียงแล้วไม่ใช้ชื่อเสียงนั้นสร้างผลกระทบทางลบกับใคร