PwC ชี้ ธุรกิจไทยยังให้น้ำหนัก “ฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบ” ไม่มากพอ เสี่ยงพลาดโอกาสรับมือความเปลี่ยนแปลง แนะควรเร่งกำหนดกลยุทธ์และแผนงานด้าน compliance ให้ชัดเจน
PwC ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจล่าสุด พบว่า องค์กรไทยจำนวนไม่น้อยยังมองข้ามบทบาทของฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance) โดยมีเพียงไม่ถึงครึ่งเท่านั้นที่ให้อำนาจทีมนี้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ขณะที่ผู้บริหารหลายรายก็ยังไม่มีแผนลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการตรวจสอบหรือการตีความข้อบังคับต่าง ๆ
PwC แนะนำว่า ธุรกิจไทยควรเร่งกำหนดกลยุทธ์และแผนงานด้าน compliance ให้ชัดเจน รวมถึงควรมีผู้นำด้านนี้ที่มีมุมมองเชิงกลยุทธ์ และพร้อมลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงเร็วและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ
สินสิริ ทังสมบัติ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี PwC ประเทศไทย ระบุว่า รายงาน “ผลสำรวจการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั่วโลก ประจำปี 2568 ฉบับประเทศไทย” สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรในไทยยังให้ความสำคัญกับฝ่าย compliance ไม่มากเท่าที่ควร โดยมีเพียง 42% ของผู้นำฝ่ายนี้ในไทยที่ระบุว่าตนมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เทียบกับค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 51%

“วันนี้โลกธุรกิจเปลี่ยนเร็ว ทั้งกฎระเบียบ ความเสี่ยง และความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ธุรกิจไม่สามารถเดินเกมแบบเดิมได้อีกต่อไป ผู้บริหารจึงควรดึงฝ่าย compliance เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น เพื่อช่วยวางโมเดลการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ มองเห็นและจัดการความเสี่ยงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
– สินสิริกล่าว
รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจระดับโลกของ PwC ที่ครอบคลุมผู้บริหาร 1,802 รายทั่วโลก โดยมีผู้บริหารจากประเทศไทยร่วมตอบแบบสอบถาม 36 ราย ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2567
- เทคโนโลยีเพื่อ compliance: ไทยยังตามหลังภูมิภาค
แม้หลายองค์กรจะเริ่มขยับ แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎระเบียบในไทยก็ยังล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
- 72% ขององค์กรในไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อฝึกอบรมด้าน compliance (เทียบกับ 81% ในเอเชียแปซิฟิก)
- 62% ใช้เทคโนโลยีในการเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนด (เทียบกับ 71%)
- 57% ใช้เพื่อติดตามปัญหา compliance ต่าง ๆ (เทียบกับ 66%)
ที่น่ากังวลคือ มีถึง 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยที่บอกว่า “ยังไม่มีแผน” ลงทุนในเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบ และอีก 35% ที่ยังไม่คิดจะลงทุนในระบบตีความข้อบังคับ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการที่หลายองค์กรยังพึ่งพาดุลยพินิจของคนเป็นหลักมากกว่าระบบอัตโนมัติ
“หากองค์กรไทยยังลังเลที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยี ก็อาจเสียเปรียบในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ หรือสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว”
– สินสิริกล่าวเสริม
- วัฒนธรรมองค์กรคือหัวใจ
ในแง่วัฒนธรรมองค์กรด้าน compliance มีถึง 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยที่มองว่า วัฒนธรรมในองค์กรของตนยังอยู่ในระดับ “กลาง ๆ” ซึ่ง PwC มองว่า การสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแรงต้องเริ่มจากบนลงล่าง โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นหัวหอก ตามมาด้วยการสื่อสารและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง และการมีนโยบายที่ชัดเจนให้พนักงานยึดถือ
“การปฏิบัติตามกฎระเบียบไม่ใช่แค่ทำตามกฎเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องอาศัยทั้งวัฒนธรรมองค์กร การสนับสนุนจากผู้บริหาร และการมีระบบหรือเทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิดการปฏิบัติที่ดีในทุกระดับขององค์กร”
– สินสิริกล่าว