นายกฯ เศรษฐา เผย นักลงทุนมองหาประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์และมีพลังงานสะอาดรองรับ เพื่อการลงทุนในภาวะโลกร้อน ด้านกสิกรไทย ร่วมกระตุ้นและสร้างการรับรู้ ดันประเทศไทย ยกระดับธุรกิจไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านงาน EARTH JUMP 2024
กสิกรไทยจัดงาน “EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจไทยที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อภาวะโลกเดือด ซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษฉายภาพเป้าหมายและทิศทางของประเทศในเรื่องของพลังงานสะอาด พร้อมด้วยผู้นำองค์กรชั้นนำระดับโลกและไทยกว่า 40 ท่านร่วมกันให้ความรู้เพื่อยกระดับธุรกิจและสังคมไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนได้รับความรู้ในทุกมิติ ทั้งโอกาส กฎเกณฑ์ มาตรการต่างๆ การสนับสนุนการเงินของธนาคาร รวมถึงการแชร์ประสบการณ์จากธุรกิจที่ปรับตัวแล้ว เพื่อพร้อมรับมือและปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action” ฉายภาพเป้าหมายและทิศทางของประเทศในเรื่องของการแก้ปัญหาโลกร้อน จากการเดินทางไปพบนักลงทุนจะเห็นว่านักลงทุนที่จะลงทุนในต่างประเทศสิ่งที่สนใจ คือ สิทธิประโยชน์จากการลงทุน ความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และพลังงานสะอาด เราจะเห็นว่าประเทศที่เจริญแล้วมีการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยก็ต้องการพลังงานสะอาดจึงต้องเริ่มคิดและลงมือทำ ซึ่งการจะลดก๊าซคาร์บอนในไทยได้นั้นต้องให้ความรู้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
ส่วนของภาคการเงิน มีความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนจึงต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเงินกู้และตลาดทุน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ทำเรื่องนี้มานาน และมีการสนับสนุนเงินกู้ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็จะมีการออก Sustainability-Linked Bond เพื่อผลักดันให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน โดยในปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ความน่าเป็นห่วงอยู่ที่ Supply Chain ถ้าไม่สามารถดึงเข้ามาอยู่ในปรัชญาเดียวกันได้ การส่งออกก็จะยากส่งสินค้าไปขายต่างประเทศก็จะถูกปฏิเสธ ดังนั้น สินเชื่อสีเขียวจึงสำคัญที่จะต้องมีเงินทุนในการให้ธุรกิจปรับเปลี่ยน เพราะเราจะทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า อัตราการเติบโตของ GDP ในหลายๆ ประเทศ สวนทางกับอัตราการปล่อยคาร์บอนเป็นอย่างมาก คือ ยิ่งมีการเติบโตของจีดีพีสูงขึ้นเท่าไร่ อัตราการปล่อยคาร์บอนยิ่งน้อยลงเท่านั้น เนื่องมาจากการตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับตัว และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ประกอบกับศักยภาพด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อวางรากฐานด้านโครงสร้างต่างๆ ให้สามารถต่อยอดและสร้างโอกาสได้อย่างหลากหลาย
ขณะที่ประเทศไทย มีแนวโน้มส่งสัญญาณบวกเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เห็นการฟื้นตัวของ GDP กลับมา สวนทางกับการปล่อยคาร์บอนที่ลดน้อยลง นับเป็นข่าวดีที่แสดงเห็นว่า ทุกภาคส่วนเริ่มให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคารกสิกรไทยได้สนับสนุนสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing and Investment) มียอดสะสม (ปี 2565-2566) รวม 73,397 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 และคาดว่าจะมียอดสะสมรวมเป็น 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2567
การที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และการทำงานร่วมกันก็จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกติกากลางขึ้นมาร่วมกัน ในปีนี้ภาพความร่วมมืจะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารรู้ดีว่าการสนับสนุนให้ธุรกิจตระหนักถึงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่สำคัญ ธนาคารจึงจัดงานนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้ทิศทางเป้าหมายของประเทศ กติกาด้านภาษีทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนกติกาด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงการแชร์ประสบการณ์การปรับตัวจากธุรกิจต่างๆ ที่ได้ลงมือทำและเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้
พร้อมกันนี้ ยังมีวิทยากรระดับโลกและไทยอีกกว่า 40 ท่าน มาร่วมให้ความรู้เพื่อยกระดับธุรกิจและสังคมไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยผู้ร่วมงานได้รับฟังเนื้อหาเข้มข้นผ่าน 2 เวทีคู่ขนาน ทั้งทิศทางและเป้าหมายของประเทศ กติกาด้านภาษีทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนกติกาด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงการแชร์ประสบการณ์จากธุรกิจที่ปรับตัวแล้ว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลงมือปรับเปลี่ยนธุรกิจ และยังมีกิจกรรม Business Clinic ที่ธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจลงทะเบียนกว่า 70 บริษัท เพื่อรับคำปรึกษาธุรกิจแบบเอ็กคลูซีฟตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าเพื่อให้ธุรกิจปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำได้จริง
ธุรกิจสตาร์ทอัพให้ความสนใจปรึกษาเรื่องกฎหมายกับ McKinsey & Company มากที่สุด ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจปรึกษาในหัวข้อ Decarbonize Advisory by KBank, Solar Panel Installation by SCG และ Sustainable Packaging Solution by SCGP ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจไทยบางส่วนมองเห็นโอกาสและพร้อมแล้วที่จะลงมือทำ
สำหรับงาน EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action เป็นการจัดงานแบบ Carbon Neutral Event มีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในงานทั้งหมดเพื่อชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา และได้รับการสนับสนุนการออกแบบ ผลิตโครงสร้างนิทรรศการและวัสดุตกแต่งการจัดงานทั้งหมดจากบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ได้อีก เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด