นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ที่มีองค์ประกอบของซิงค์นาโนอิมัลชั่น พัฒนาเทคโนโลยี “ไบโอ อินโน เทค” สู่น้ำยาฆ่าเชื้อสายพันธุ์ไทย ประสิทธิภาพเทียบเคียงของนำเข้า ผ่านการขึ้นทะเบียน อย.และบัญชีนวัตกรรมไทย เตรียมบุกตลาดส่งออก ‘66
ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เปิดเผยว่า ได้พัฒนาสารฆ่าเชื้อที่สามารถใช้ในงานด้านสาธารณสุข โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเดิม อิงน้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีในด้านสาธารณสุข
“โจทย์ของเราคือ ต้องมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมสามารถทำลายเชื้อได้หลายชนิด ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วและมีฤทธิ์อยู่ได้เป็นเวลานาน ต้องไม่กัดกร่อนพื้นผิวของโลหะ ยาง และพลาสติก เป็นต้น รวมทั้งมีความคงตัวสูงต้องไม่ถูกทำลายฤทธิ์ได้ง่าย ควรมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยที่ต้องไม่เป็นพิษ ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และควรเป็นชนิดเข้มข้นเพื่อให้ประหยัด เมื่อต้องทำการฉีด พ่น เช็ด ถู” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว
ทีมวิจัยจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียด้วยซิงค์ไอออนจากเกลือซิงค์ภายในประเทศ ซึ่งเกลือซิงค์ยังสามารถใช้เป็นแร่ธาตุอาหารเสริมของ คน สัตว์และพืช ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยและไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสามารถเปลี่ยนไปเป็นแร่ธาตุอาหารเสริมได้ นอกจากนี้ซิงค์ไอออนมีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อได้ยาวนาน ไม่สลายตัวง่าย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“อย่างไรก็ตาม ไอออนของโลหะที่ได้กล่าวมานั้นมีความคงตัวต่ำกว่าโลหะที่อยู่ในรูปอนุภาคนาโนมาก จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมนี้ ที่จะพัฒนาโลหะในรูปของไอออนบวกของซิงค์ไอออนจากเกลือซิงค์ โดยอาศัยหลักการของการแทนที่โมเลกุลของน้ำที่มาล้อมรอบซิงค์ไอออนด้วยโมเลกุลขนาดเล็ก เช่น กรดอะมิโน โปรตีน กรดไขมันหรือพอลิเมอร์ที่ทำหน้าที่ล้อมรอบหรือเกิดสารประกอบเชิงซ้อนหรือคีเลตกับซิงค์ไอออนแทนที่โมเลกุลของน้ำ ทำให้ไอออนของโลหะที่มีประจุบวกมีความเสถียรทนต่อการจับของประจุลบในสิ่งแวดล้อม และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโดยใช้ร่วมกับสารลดแรงตึงผิว” ดร.วรายุทธอธิบาย
นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค นาโนเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ไบโอ อินโน เทค (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งได้ร่วมกับผู้วิจัยให้พัฒนาต่อยอดให้น้ำยาฆ่าเชื้อสูตรพื้นฐาน ให้สามารถฆ่าเชื้อราได้ และมี pH เป็นกลาง (pH 6.5-7.5) โดยให้ใช้สารเคมีที่ปลอดภัยหรือใช้สารธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของสูตรฆ่าเชื้อไอออนบวกของซิงค์ไอออน และคีเลติง เอเจ้นท์ (chelating agent) โดยเพิ่มสารฆ่าเชื้อจากเบนซาลโคเนียม คลอไรด์ และสารทำความสะอาดจากกรดไขมันมะพร้าว ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทฯ ที่พัฒนาเพิ่มเติม
น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีองค์ประกอบของซิงค์นาโนอิมัลชั่นนี้ ผ่านการทดสอบการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อ Escherichia coli Staphylococcus aureus Pseudomonas aeruginosa และ Salmonella choleraesuis) จากโครงการประกันคุณภาพทางจุลชีววิทยา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบการฆ่าเชื้อไวรัส H1N1 และทดสอบการฆ่าเชื้อไวรัส Corona Virus (PED) จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และเชื้อรา Aspergillus Niger จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสในสัตว์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร พร้อมทั้งได้ทดสอบความปลอดภัย (LD50) ของผลิตภัณฑ์กับสถาบันวิจัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยได้ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทะเบียนวัตถุอันตรายในการควบคุมของกรมปศุสัตว์และขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยอีกด้วย
ด้านนายณัติรุจน์ รัตนศรัญวิทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอ อินโน เทค (ไทยแลนด์) จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า เดิม บริษัททำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้ออยู่แล้ว และเริ่มเห็นโอกาสและศักยภาพของนวัตกรรมจากงานวิจัยไทย โดยมีกลไกสนับสนุนภาครัฐอย่างบัญชีนวัตกรรม ทำให้อยากทำผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบรนด์ไทยขึ้นมา
“เรารับถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียด้วยซิงค์ไอออนจากเกลือซิงค์จากนาโนเทค สวทช. ก่อนที่จะร่วมกันพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบความต้องการใช้งานของผู้บริโภค ในประสิทธิภาพที่เทียบเคียงของนำเข้า จนได้เป็นสูตรเฉพาะของบริษัทฯ ที่พัฒนาเพิ่มเติมต่างจากสูตรสิทธิบัตร พร้อมกับดำเนินการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยา (อย.) และเริ่มขยายสู่เชิงพาณิชย์ นำนวัตกรรมจากงานวิจัยนี้เข้าสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ Argermgo ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา” นายณัติรุจน์กล่าว
ผลิตภัณฑ์ Agermgo เป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ที่มีองค์ประกอบของซิงค์นาโนอิมัลชัน ร่วมกับสารฆ่าเชื้อเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ และสารทำความสะอาดสกัดจากธรรมชาติในกลุ่มของกรดไขมันจากน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีคีเลชัน เพื่อเพิ่มความคงตัวให้กับซิงค์ไอออนและเทคโนโลยีนาโนอิมัลชัน ที่สามารถทำให้เฟสน้ำและเฟสน้ำมันรวมเข้ากันได้ดี มีลักษณะใส มีความคงตัวสูง มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ภายในระยะเวลา 10 นาที ที่ความเข้มข้น 1% (100 เท่า)
ด้วยฐานลูกค้าเดิมของไบโอ อินโน เทค เป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย จึงได้นำผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อนี้ ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้สำเร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2564
“ผลตอบรับดีมากสำหรับผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไทย” ผู้บริหารไบโอ อินโน เทคกล่าว พร้อมชี้ว่า ปี 2564 สร้างยอดขายถึง 9 พันลิตร ส่วนสำคัญคือ บัญชีนวัตกรรมไทยที่ทำให้ลูกค้ารัฐซื้อได้ ทำให้เราที่เดิมนำเข้าเริ่มคิดที่จะผลิตเอง โดยต้องลงทุนเพิ่มกว่า 100 ล้านบาท สำหรับฐานการผลิต การตลาด และทีมวิจัย
นอกจากนี้ ไบโอ อินโน เทคฯ ยังคงร่วมวิจัยกับนาโนเทค สวทช. ต่อเนื่อง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตัวใหม่ ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อระดับสูงสำหรับการใช้งานทางการแพทย์ เพื่อขยายสู่กลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสปอร์ เชื้อรา เชื้อที่ทนทานสูงต่างๆ เช่น เชื้อวัณโรค ไวรัสมือเท้าปาก โดยในไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อระดับสูงที่มีความปลอดภัย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100%
“สำหรับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อระดับสูง ซึ่งมีความปลอดภัยสูงนี้ ได้พัฒนาสำเร็จแล้ว และอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน อย. (วัตถุอันตราย/เครื่องมือแพทย์) และขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย โดยคาดจะสามารถวางจำหน่ายในช่วงกลางปี 2565 หลังได้รับการขึ้นทะเบียน อย. ด้วยราคาที่แข่งขันได้ ถูกกว่าของนำเข้า ในประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน แต่ปลอดภัยกว่า ทั้งต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมถึงอุปกรณ์ที่สัมผัสผิวหนังซึ่งเป็นโลหะต่างๆ ที่ต้องใช้สารฆ่าเชื้อในการเช็ด แช่ ถู” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการไบโอ อินโน เทคกล่าว
จากรายได้ 500 ล้าน ในปี 2564 ไบโอ อินโน เทค ตั้งเป้ารายได้เพิ่มให้ได้เท่าตัวในปี 2565 โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์สารฆ่าเชื้อคาดว่า จะสร้างรายได้ 60% ของรายได้รวม
นอกจากนี้ ไบโอ อินโน เทค ยังวางแผนส่งออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นวางแผนสำหรับตลาดต่างประเทศ ที่จะสร้างการรับรู้ผ่านการออกบูธ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เริ่มจากตลาดอาเซียนในปี 2566 ที่มีความเป็นไปได้สูง จากปัจจุบันที่มีดิสทริบิวเตอร์จากประเทศเพื่อนบ้านติดต่อเข้ามา แต่บริษัทฯ ยังต้องเสริมความแข็งแกร่งเพิ่ม ในเรื่องของมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน EN และอื่นๆ ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าไปทำตลาด ซึ่งหากไปได้ดี ก็จะขยายสู่ตลาดระดับเอเชียต่อไป