ประชาชนและองค์กรภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประสานความร่วมมือ ปักหมุดจุดเผือกพื้นที่เสี่ยงต่อการคุกทามทางเพศมากกว่า 600 หมุด จากโครงการ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” พร้อมเปิดข้อมูลพื้นที่ที่มีความร่วมมือ ปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ
อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตลุมพินี สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล เขตราชเทวี-พญาไทถนนเพชรบุรี เขตบางขุนเทียน และเปิด 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากสุด ขณะที่สน.ลุมพินี รับมอบข้อมูลพร้อมเตรียมปรับแผนการรักษาความปลอดภัย และตรวจตราความเรียบร้อย ย้ำบางจุดจะส่งสายตรวจเพื่อตรวจความเรียบร้อย เฝ้าระวัง ตามช่วงเวลาที่มีการแจ้งเข้ามาให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้แทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าวว่า โครงการปักหมุดจุดเผือก เป็นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งในการทำงานรอบนี้ นอกเหนือจากองค์กรด้านผู้หญิงและการพัฒนาสังคมซึ่งร่วมงานกันมาแต่แรก อย่างองค์การแอ็คชั่นเอด แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ยังขยายความร่วมมือกับภาคีใหม่ๆ ที่ทำงานหลากหลายด้าน อย่าง Big Trees ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม บริษัท ฉมา โซเอ็น ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภูมิสถาปัตย์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และ Urban Creatures ที่ทำงานสื่อสารประเด็นคุณภาพชีวิตในเมือง มาร่วมออกแบบและดำเนินงานด้วยกัน ทำให้โครงการรณรงค์นี้เข้าถึงกลุ่มประชากรที่หลากหลายมากขึ้น
การทำงานครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก NECTEC ที่เสนอให้ลองใช้แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue แอพพลิเคชั่นสำหรับการแจ้งเหตุต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม โดยใช้แอพพลิเคชั่นเป็นเครื่องมือการแจ้งข้อมูลที่เหมาะสม หากประชาชนพบเห็นพื้นที่สาธารณะหรือเส้นทางสัญจรไปมา จุดใดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการคุกคามทางเพศ เช่น เป็นเส้นทางสัญจรที่ไม่มีไฟส่องสว่างเวลากลางคืน หรือเป็นพื้นที่เปลี่ยว เป็นมุมอับ ขาดการดูแล ทำให้ผู้ผ่านไปมารู้สึกไม่ปลอดภัย ก็ให้แจ้งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นเข้ามา หลังจากนั้น ทีมงานจะรวบรวมและประมวลผลข้อมูล เพื่อสรุปลักษณะปัญหาความเสี่ยงต่างๆ แล้วนำเสนอต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ อาทิ ตำรวจท้องที่ และกรุงเทพมหานคร ให้หาทางปรับปรุงหรือดูแลความปลอดภัยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
หลังจากเริ่มโครงการปักหมุดจุดเผือกเป็นเวลา 2 เดือน ขณะนี้มีจุดเสี่ยงที่ปักหมดไปแล้วมากกว่า 600 จุดทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 280 หมุด, เขตลุมพินี สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล 114 หมุด โดยเป็นการการปักหมุดในพื้นที่บริเวณ ชุมชนสะพานเขียว ถนนวิทยุ ซอยร่วมฤดีซอยโปโล, เขตราชเทวี-พญาไทถนนเพชรบุรี 75 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณเพชรบุรีซอย 5 เพชรบุรีซอย 7, เขตบางขุนเทียน 33 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณ ชุมชนเคหะ ธนบุรี 3 บริเวณพระราม 2 ซอย 60 และสถานีรถไฟรางสะแก, เขตมักกะสัน 32 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณ ถนนนิคมมักกะสัน,
เขตบางซื่อ 25 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณทางรถไฟประชาชื่น, เขตสะพานควาย 10 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณ ซอยพหลโยธิน ซอยอินทามระ 45, เขตดินแดง-อนุสาวรีย์ 4 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณถนนราชวิถี, เขตจรัญสนิทวงศ์ 11 หมุด ได้แก่ พื้นที่บริเวณ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 1, เขตประชานิเวศน์-ประชาอุทิศ 6 หมุด ได้แก่ พื้นที่ซอยประชานิเวศน์ 3 ซอยรามคำแหง 21, เขตลาดกระบัง 5 หมุด ได้แก่ พื้นที่ สถานีรถไฟพระจอมเกล้า, เขตบางกรวย 4 หมุด ได้แก่ พื้นที่คลองบางกอกน้อย และเขตรัชดา 4 หมุด ได้แก่ พื้นที่รัชดาซอย 4
ลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดคือทางเดินและซอย 39% สะพาน 16% ริมถนน 15% ใต้ตึก 13% อาคารร้าง 7% ทางเดินริมคลอง 7% สะพานลอย 3% สวนสาธารณะ 1% ทางจักรยาน 1%
นอกจากนี้ ยังประมวลผลพบ 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด ได้แก่ 1. จุดที่ขาดการบำรุงรักษา 23% ไฟสว่างไม่เพียงพอ 23% จุดอับสายตา 15% ทางเปลี่ยว 14% ทางแคบทางตัน 13% ไม่มีป้ายบอกทาง 9% ไกลจากป้ายรถเมล์ วิน สถานี 3%
ขณะนี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้รับความร่วมมือจากผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี รับข้อมูลจุดเสี่ยงไปพิจารณา โดยทาง สน. รับปากจะเพิ่มความถี่ในการออกตรวจตราพื้นที่เสี่ยง และจะเพิ่มการทำงานเสริมศักยภาพของอาสาสมัครตำรวจบ้านในชุมชนรอบๆ ให้สามารถตรวจตราเฝ้าระวังดูแลพื้นที่ และประสานงานแจ้งเหตุกับตำรวจท้องที่ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะยาว หวังว่าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จะใส่ใจกับปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศ และมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น และควรมีช่องทางการสื่อสารแบบถาวรที่ประชาชนจะสามารถช่วยกันแจ้งข้อมูลจุดที่มีความเสี่ยงหรือมีอันตรายต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานเข้ามาดูแลป้องกันโดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุร้ายขึ้นเสียก่อน
ด้านนายยศพล บุญสม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Shma Company Limited กล่าวว่า กระบวนการในการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงมี 2 มิติ คือ ทางกายภาพ และ ทางสังคม ที่จะคู่ขนานกันไป โดยทางกายภาพ คือลดความเสี่ยง เช่น ติดไฟส่อง ติดกล้องวงจรปิด หรือ เพิ่มการตรวจตรา แต่ในมิติของสังคมจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งมิติทางสังคมคือกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ ในการร่วมกันออกแบบกับชุมชน ว่าต้องการอะไร มีความเห็นอย่างไร เพื่อสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วม
นายวสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้ามาช่วยเหลือชีวิตคนให้ปลอดภัยมีความจำเป็น ซึ่งขณะนี้ NECTEC ได้พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวสมบูรณ์แล้ว และมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ทันที ในการรวบรวมข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้ได้ทุกพื้นที่ไม่ว่าจะกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด
“โครงการปักหมุดจุดเผือกนี้ ถือเป็นโมเดล นำร่อง ที่สามารถนำเทคโนโลยีเช่นเดียวกันนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ทั่วประเทศ ซึ่งหากท้องถิ่น หรือเทศบาลใดสนใจสามารถติดต่อมาได้ที่NECTEC ได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด” นายวสันต์กล่าว