กรุงเทพโพลล์ สำรวจพบผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เบื่อหน่ายกับค่ารถแพง และจุดเชื่อมต่อที่เดินไกลเกินไป แถมยังยุ่งยากต้องพกบัตรหลายใบ MRT, Rabbit, EMV แต่หากเปิดครบทุกสาย กว่า 78.5% จะหันมาใช้รถไฟฟ้า
ผลสำรวจเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กับหัวอกคนใช้บริการ” ของ กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นของประชาชนเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กับหัวอกคนใช้บริการ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,200 คน เมื่อวันที่ 5-10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า
ปัจจุบันประชาชน 38.2% ระบุว่าเดินทางโดยใช้บริการรถไฟฟ้า(BTS, MRT, Airport Link) เป็นบางวัน รองลงมา 36.2% ระบุว่าใช้เป็นประจำทุกวัน และ 25.6% ระบุว่านานๆ ใช้ที โดยส่วนใหญ่ 66.2% ระบุว่า ขึ้นขบวนเดียว/ต่อเดียวถึง ขณะที่ 33.8% ระบุว่า ต้องเปลี่ยนขบวนเชื่อมต่อไปรถไฟฟ้าสายสีอื่น
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 46.2% ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 51-100 บาท รองลงมา 35.4% ระบุว่าน้อยกว่า 50 บาท และ 14.2% ระบุว่า 101-150 บาท
สำหรับเรื่องที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ 61.0% รู้สึกว่าเป็นปัญหาหรือลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้าคือ ค่าตั๋วโดยสารแพง รองลงมา 39.4% คือ จุดเชื่อมต่อของ MRT BTS เดินไกล และ 25.7% คือ ยุ่งยากต้องพกบัตรโดยสารทีละหลายใบ ทั้ง MRT, Rabbit, EMV
ส่วนเรื่องที่อยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถไฟฟ้าพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 61.0% ระบุว่าปรับค่าโดยสารให้ถูกลงกว่านี้ รองลงมา 48.5% ระบุว่าอยากให้มีบัตรเดียวใช้บริการได้กับรถไฟฟ้าทุกสายเหมือนต่างประเทศ และ 47.6% ระบุว่าอยากให้เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆให้เสร็จตามแผนอย่างรวดเร็ว
ด้านความพึงพอใจการให้บริการรถไฟฟ้าในภาพรวมนั้นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 88.3% ระบุว่า พึงพอใจมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 11.7% ระบุว่าพึงพอใจน้อยถึงน้อยที่สุด
ทั้งนี้หากสามารถสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกเส้นทางตามที่วางแผนไว้ประชาชนส่วนใหญ่ 78.5% เห็นว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลลดใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถไฟฟ้าได้ ขณะที่ 10.1% เห็นว่าไม่ได้ ที่เหลือ 11.4% ยังไม่แน่ใจ