พัทยาแอร์เวย์ รับมอบเครื่องบิน ATR 72-500 Freighter ลำแรก เข้าฝูงบินตามแผน เตรียมรองรับการบุกเบิก ตลาดขนส่งสินค้าทางอากาศ สนองการเติบโตโลจิสติกส์และ E-Commerce ในภูมิภาคอาเซียน
ทศพร อสุนีย์ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทพัทยา (PATTAYA GROUP) และ ณัฏฐน์ บุณยวิชญ์กานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทพัทยา นำทีมผู้บริหารและพนักงาน พัทยาแอร์เวย์ ต้อนรับเครื่องบินขนส่งสินค้า ATR 72-500 Freighter ลำแรก ภายใต้ชื่อไทย “ทัณฑิมา” ทะเบียนเครื่องบิน HS-PAW เป็นไปตามแผนการดำเนินงานการเปิดให้บริการการบินของพัทยาแอร์เวย์ พร้อมสำหรับการบุกเบิกตลาดขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และ E-Commerce ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีฐานปฏิบัติการการบินที่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา
พัทยาแอร์เวย์ คาดว่าจะเริ่มทำการบินในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นี้ และตามแผนการดำเนินของสายการบิน เครื่องบิน ATR 72-500 Freighter ลำที่สอง จะมีกำหนดเข้าประจำการภายในเดือนพฤษภาคม 2567 และสายการบินจะดำเนินการตามแผนที่จะเพิ่มฝูงบินเป็น 5 ลำ ภายในปี 2571
สายการบิน “พัทยาแอร์เวย์” ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating License หรือ AOL) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate หรือ AOC) คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตและเริ่มให้บริการตามกรอบเวลาที่วางแผนไว้ โดยจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในช่วงปลายปีหรือไตรมาส 4/2567 จากการนำเครื่องบิน ATR 72-500 จำนวน 2 ลำเข้าฝูงบินและเริ่มให้บริการก่อน
หลังจากนั้น จะเพิ่มฝูงบินเข้ามาประจำการให้ครบ 5 ลำ ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมุ่งเน้นเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะให้บริการในลักษณะการจับมือกับคู่ค้าพันธมิตร B2B ที่ได้ลงนามทำการค้าร่วมกัน เพื่อสอดรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์และตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการของกลุ่มบริษัทพัทยา ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ในเครือ 2,700 ล้านบาท ส่วนรายได้ของธุรกิจขนส่งสินค้าจากสายการบิน “พัทยาแอร์เวย์” ที่จะเปิดให้บริการในไตรมาส 4 คิดเป็นมูลค่าราว 300 ล้านบาท และยังคาดการณ์ด้วยว่าจะสามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเริ่มต้นได้ 3-5% ของตลาดรวมทั้งภูมิภาค
จากคาดการณ์ในปี 2568 ตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 29% ต่อปี และคาดว่าจะขยับขึ้นเป็นที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย จนมีขนาดใหญ่กว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของมาเลเซียและเวียดนาม โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มาเลเซียมีมูลค่าอยู่ที่ 8.2 พันล้านเหรียญ และเวียดนาม 7.5 พันล้านเหรียญ