”พึ่งตน เพื่อชาติ” ส่งต่อยอดองค์ความรู้ ชวนคนไทยพัฒนาตนสู่ความยั่งยืน

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:5 Minute, 50 Second

โครงการ ”พึ่งตน เพื่อชาติ” ชวนคนไทยทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิถีชีวิต สู่การพึ่งตนและแบ่งปัน ร่วมฝึกอบรมเติมความรู้ สร้างคุณค่าใหม่ของสังคม โดยผนึก 2 พันธมิตรเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันอาศรมศิลป์ มุ่งต่อยอดองค์ความรู้สู่ความยั่งยืน

เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2563 ทาง www.พึ่งตนเพื่อชาติ.com ประกาศความพร้อมเดินหน้าโครงการ เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้า 1,000 คน ฝึกลงสนามทำจริง เน้นพึ่งตน-แบ่งปันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนุนความรู้เป็นพี่เลี้ยง มั่นใจสร้างโมเดลชุมชนต้นแบบ “พึ่งตน เพื่อชาติ” 100 ชุมชน ขยายผลสู่เป้าหมายล้านคน ไม่หวั่นโควิด-19 กลับมารอบ 2

นางสาวพรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา และผู้อำนวยการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ กล่าวว่า โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ เป็นความตั้งใจของครอบครัวอยู่วิทยาที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาสร้างแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ชีวิตของคนไทยนับล้านเปลี่ยนแปลงไป หลายครอบครัวไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เหมือนเดิม ครอบครัวอยู่วิทยาเล็งเห็นว่าการดำรงชีวิตตามวิถีของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยสร้างความพอมีพอกินพอใช้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าจะสร้างคุณค่าใหม่ของสังคมแห่งการพึ่งตนและแบ่งปันได้ในท้ายที่สุด

โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ มุ่งเน้นการหนุนเสริมคนที่มีความพร้อมที่จะเป็นทัพหน้าพาคนไทยฝ่าวิกฤต สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง และชุมชนอย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ทางเว็ปไซต์ของโครงการฯ คือ www.พึ่งตนเพื่อชาติ.com โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้ววันนี้ และโครงการฯ จะประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมรุ่นที่หนึ่งจำนวน 300 คน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และจะเริ่มฝึกอบรมหลักสูตร 1 วัน “ก้าวแรก พึ่งตน” ในวันที่ 21 สิงหาคม เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมพึ่งตนได้ง่ายๆ ได้ในเวลาเพียง 1 วัน

การฝึกอบรมเต็มโครงการจะใช้เวลา 3 เดือน โดยแบ่งเป็น การอบรม 5 วัน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าโปรแกรมเติมหลักคิด หลักทำตามทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเรียนรู้การออกแบบพื้นที่นิเวศ ดิน น้ำ ป่า คน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยเป็นพื้นฐานของการพึ่งตน ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เขาใหญ่ หลังจากนั้น ฝึกปฏิบัติการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อดึงศักยภาพของตนเองและชุมชน ปลูกฝังการเรียนรู้การพึ่งตนและแบ่งปัน โดยเลือกฝึกกับครูเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตามพื้นที่ 4 ภาค ระยะเวลา 10 วัน เพื่อร่วมค้นหาต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่แตกต่างตามภูมิสังคม และท้ายสุดคือการ ลงมือทำอย่างจริงจังตามแนวทางของทฤษฎีใหม่โดยมีครู และเครือข่ายเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปลงมือปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง สร้างชุมชนของตนเอง หรือนำองค์ความรู้นี้ไปฝึกลงมือทำในพื้นที่ของครอบครัวอยู่วิทยา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกสอนคนอื่นๆ ต่อไป

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาคนในโครงการฯ นี้ว่า สำคัญที่สุดคือการสร้างคนและการติดตามหนุนเสริม โครงการนี้เป็นการจับมือร่วมกัน ตั้งแต่การเริ่มออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับคนเมือง หรือคนที่เคยทำงานในเมืองซึ่งจะเป็นคนละแบบกับกลุ่มเกษตรกร โดยจะมีการอบรม 1 วัน 5 วัน และหลักสูตรเข้มข้นคือไปฝึกที่บ้านครูและพาลงชุมชน ไปเรียนรู้จากของจริง หลังจากนั้นกลับไปทำที่ชุมชนตนเอง หรือจะสร้างชุมชนแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกันแบ่งปันกัน รอดร่วมกัน โดยยึดหลัก Our Loss is Our Gain ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา

นอกจากหลักสูตรที่ออกแบบให้เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้แล้ว โครงการฯ ยังร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดโมเดลการทำงานของโครงการ พึ่งตน เพื่อชาติ ซึ่งเป็นการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดของภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม โดยเน้นกระบวนการเปลี่ยน กระบวนคิด (Mind Set) สู่การคิดพึ่งตนและมองเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน

“งานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โครงการเดินหน้าสู่เป้าหมาย 1 ล้านคนได้อย่างมีทิศทาง เพราะจะเป็นการตอบคำถามอย่างมีหลักการ เพื่อให้ผู้ดำเนินโครงการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานได้ทันท่วงที และจะเป็นชุดวิจัยที่เกิดบนสถานการณ์จริง นำไปใช้ได้ประโยชน์ทันทีเหมาะกับโลกยุคโควิด-19 ที่อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้” อาจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงมุมมองด้านการศึกษา

นางสาวพรรณราย กล่าวถึงบทบาทของครอบครัวอยู่วิทยาว่า นอกจากจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนจำนวน 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรกสำหรับดำเนินการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ในการตอบแทนคุณแผ่นดินที่พวกเราได้ถือปฎิบัติมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว พึ่งตน เพื่อชาติ ยังเป็นโครงการที่ระดมคนทั้งเจน 2 และเจน 3 ของครอบครัวอยู่วิทยาได้เข้ามาช่วยกันทำตามความสามารถและความถนัดของแต่ละคน บางคนลงมือทำ บางคนจะคอยให้คำแนะนำ และช่วยต่อยอดให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

โครงการพึ่งตน เพื่อชาติ มี 3 เป้าหมายหลักคือ หนึ่งมุ่งสร้างผู้นำเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงตนเอง และชุมชน โดยหนุนเสริมจุดเล็กๆ คนเล็กๆ เริ่มจากครอบครัว เพื่อนฝูง สู่ชุมชน ให้มีพลังในการสร้างรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานการพึ่งตนและแบ่งปัน ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ และด้วยกระบวนการการเรียนรู้และการเชื่อมโยงที่เข้าหาตนเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้รับรู้ว่าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาอย่างไร และจะช่วยลดปัญหาหรือทำให้ชีวิตของพวกเขาและสังคมในวงกว้างดีขึ้นได้อย่างไร เหล่านี้จะหล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาผู้นำที่พร้อมจะเป็นทัพหน้าพาคนไทยฝ่าวิกฤต สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง และชุมชน

เป้าหมายที่สองคือมุ่งสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม (Social Impact) สู่คุณค่าใหม่ของการพึ่งตน เพราะเราเชื่อว่าการพึ่งตนและแบ่งปันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมไทย และเป็นจุดแข็งที่ทำให้เรารอดจากความยากลำบากไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตาม การเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ที่การแลกเปลี่ยนไม่ได้ถูกวัดด้วยมูลค่า สู่การแบ่งปันแบบไม่มีเงื่อนไข หากแต่เกิดจากความพึงพอใจของผู้ให้และผู้รับเป็นหลักจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมสู่คุณค่าใหม่ได้อย่างยั่งยืน

สุดท้ายคือมุ่งสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาสังคม โครงการ พึ่งตน เพื่อชาติมุ่งเป้าหมายหนุนเสริมโมเดลชุมชนแห่งการพึ่งตน แบ่งปัน 100 ชุมชนต้นแบบ และขยายผลออกไป โดยมีเป้าหมายให้คนไทย 1 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่ายิ่งพึ่งตน ยิ่งแบ่งปันมากขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งถือว่าเป็นฐานรากที่สำคัญของชาติ ก็จะยิ่งมีความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ซีพีเอฟ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิต

ซีพีเอฟ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสูงสุด เดินหน้าเป้าหมายลดการดึงน้ำมาใช้ 30%ในปี 2568 ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

You May Like