ราช กรุ๊ป เปิดแผนกลยุทธ์ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ นำ Digital AI เสริมศักยภาพ พร้อมออกนโยบาย พนักงานต้องเรียนรู้ 100% และ รู้จักการใช้งาน AI 100% ล่าสุด ประกาศทบทวนแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจ ปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางโลกธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เหตุจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ Disruption การดำเนินธุรกิจ
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานจากนี้ไป อันดับแรกคือการเพิ่มประสิทธิภาพและการทำกำไรต่อสินทรัพย์ เริ่มจากการลดต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้า และต้นทุนด้านการเงิน โดยพยายามนำดิจิทัล รวมถึงระบบ AI เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ราช กรุ๊ป ออกนโยบายให้พนักงานต้องมีความรู้ด้าน AI และเริ่มทำการอบรมในช่วงครึ่งปีหลัง โดยตั้งเ้าให้พนักงานรู้จักการใช้งาน AI ได้ 100% ทุกคนต้องอบรม 100%
เป้าหมายราช กรุ๊ป ต้องตอบสนองความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและตอบสนองความมั่นคงทางด้านพลังงาน เรามุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยการลงทุนมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ต้องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน สามารถเข้าถึงเป้าหมายในเรื่องของ Carbon Neutrality และ Net Zero ได้
การลงทุนของราช กรุ๊ป ซึ่งเน้นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของบริษัทฯ โดยวางกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้อง กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น ศูนย์ของประเทศเป้าหมาย
อีกทั้งยังเดินหน้าศึกษาโมเดลและเทคโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องด้วย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก (วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2567) จำนวน 1,740 ล้านบาท (0.80 บาทต่อหุ้น) ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 กันยายน ที่จะถึงนี้
นิทัศน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตนับจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องสำคัญ กล่าวคือ
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการ ติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น
- บริหารโครงการในมือที่มีอยู่แล้วให้เสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง ในจำนวนนี้มี 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปีนี้นอกเหนือจาก 3 โครงการที่ดำเนินการสำเร็จในครึ่งแรกของปีนี้ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าคาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 เมกะวัตต์
- การลงทุนขยายธุรกิจ โดยบริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์การลงทุน ให้มุ่งเน้นโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงก้าชธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR)
ปีนี้ ราช กรุ๊ป ยังได้ทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ
ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเร็ว จากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นบนโลก ได้เข้ามาดิสรัปชั่นการดำเนินธุรกิจ เพราะฉะนั้น จะเน้นการลงทุนในโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติสปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย พร้อมกันนี้ ยังต้องทำเรื่องเงินทุนให้แข็งแกร่ง และเดินหน้าโครงการใน Pipeline ให้สำเร็จตามเป้า
ส่วนออสเตรเลีย มีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทยสปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
ระบบกักเก็บพลังงานใน รูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคม อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า การดำเนินตามแนวทางแผนกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้ราช กรุ๊ป เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,817.28 MW โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,974.67 (27.5%) ในปี 2567 บริษัทฯ จัดสรรเงินลงทุน จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึงร้อยละ 30 ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578
นิทัศน์ กล่าวว่า ราช กรุ๊ป มีแผนลงทุน Data Center เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้พาบริษัทที่ต้องการลงทุนเข้าไปดูพื้นที่ 2 แห่งของราช กรุ๊ปแล้ว หากมีความคืบหน้าจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมภายหลัง