ลอรีอัล ผนึก ยูเนสโก หนุนนักวิจัยสตรี

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:7 Minute, 51 Second

ลอรีอัล ร่วมมือ ยูเนสโก ประกาศ 5 นักวิจัยสตรีปีที่ 17 รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปี 2562 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย ปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 65 คน

นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากจุดยืนของ ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล และเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจ ที่เชื่อมั่นว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการผู้หญิง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ลอรีอัลจึงสนับสนุนงานวิจัยของสตรีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยที่มีสัดส่วน 56.1% หรือประมาณ 29% ของนักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลก ลอรีอัลจึงเดินหน้าโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 17

ปีนี้ นักวิจัยสตรี 5 คน จาก สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2 คน คือ ดร. ธัญญพร วงศ์เนตร จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กับงานวิจัยหัวข้อ “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ ดร. ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับงานวิจัยหัวข้อ “เอนอีซ (ENZease): เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ 3 คน คือ ดร. จำเรียง ธรรมธร จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเชื้อมาเลเรีย” รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริลตา ยศแผ่น จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อ “การออกแบบกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีใหม่ด้วยแนวคิด C-H functionalization สู่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน” และ

รองศาสตราจารย์ ดร. พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิสเพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจนของแอริลอีเทอร์ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม”

สำหรับ“การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร. ธัญญพร วงศ์เนตร เล่าว่า จากผลการสำรวจโดยกรมควบคุมมลพิษในปี 2559 ประชากรไทยสร้างขยะมูลฝอยหรือขยะชุมชนสู่ระบบนิเวศกว่า 27.37 ล้านตันต่อปี หรือราวๆ 74,998 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งในระดับชุมชนและประเทศชาติอย่างมาก ทีมวิจัยจึงนำเทคโนโลยีการหมักขยะเศษอาหาร มาใช้ควบคู่กับหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ได้จากผลงานวิจัย เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่ม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่มีคุณภาพสูงขึ้น และเป็นพลังงานสะอาด สามารถนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกได้ในอนาคต

ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้แล้วที่จังหวัดน่าน และที่เขตนวัตกรรม ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และกำลังวางแผนที่จะขยายไปยังชุมชนอื่น รวมไปถึงขยายไปในระดับเทศบาลต่อไป เพื่อปลูกฝังให้คนไทยมีพฤติกรรมในการแยกขยะ และช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะถูกปล่อยออกสู่ระบบนิเวศและธรรมชาติต่อไป

ดร. ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีและพลังงานสูง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอที่ลดการใช้สารเคมี ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ‘เทคโนโลยีเอนไซม์’ จึงเป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ทางทีมวิจัยจึงได้มุ่งหน้าคิดค้นเทคโนโลยีเอนไซม์จากเชื้อจุลินทรีย์ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อให้ได้มาซึ่งเอนไซม์ที่มีศักยภาพสูง และนำไปสู่การพัฒนาเอนไซม์สัญชาติไทยที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ โดย เอนอีซ (ENZease) เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่คิดค้นได้โดยทีมวิจัยนี้จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพของผ้าไทยทั้งในระดับอุตสาหกรรมและสิ่งทอพื้นเมือง รวมทั้งทำให้กระบวนการการผลิตผ้าฝ้ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะประชาชนชาวไทย อย่างมหาศาลต่อไปในอนาคต

ด้าน ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ดร. จำเรียง ธรรมธร จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงรายละเอียดงานวิจัยว่า ปัจจุบัน มีโรคเกิดขึ้นใหม่มากมายอีกทั้งยังโรคต่างๆ ที่มีอยู่ก็มีอัตราการดื้อยาที่สูงขึ้น ส่งให้งานวิจัยทางด้านการพัฒนายาจึงต้องเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในขั้นตอนหลักที่จำเป็นคือการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพซึ่งจะนำไปสู่งานวิจัยที่ต่อยอดได้ โดยผลงานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิธีการสังเคราะห์สารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและการฆ่าเชื้อมาเลเรีย โดยหลังจากที่ได้วิธีการสังเคราะห์สารสำคัญในกลุ่มนี้ ทางทีมวิจัยจะทำการเตรียมอนุพันธ์ของสารเพื่อให้มีความหลากหลายทางโครงสร้าง และนำไปทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพต่อไป ซึ่งหลังจากได้สารที่เป็นสารประกอบ ก็จะนำสารนี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นยารักษาโรคต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริลตา ยศแผ่น ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้กล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับ Carbon-Hydrogen (C-H) bond functionalization คือ การใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อเปลี่ยนแปลงสารอินทรีย์ที่พันธะระหว่างคาร์บอนและไฮโดรเจนโดยตรง ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับความสนใจจากนักเคมีเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นวิธีการสังเคราะห์สารอย่างยั่งยืน โดยจะช่วยลดขั้นตอนการผลิต ลดปริมาณของเสียและสารพิษอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมี

งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีทางเลือกใหม่ โดยได้ใช้แนวคิด Carbon-Hydrogen (C-H) bond functionalization ผสมผสานกับการเร่งปฏิกิริยาเคมี (Catalysis) และหลักการทางเคมีสีเขียว (Green Chemistry) ซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเคมี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยทางด้านชีววิทยา วัสดุศาสตร์ เภสัชศาสตร์ การเกษตร หรืออื่นๆ ได้ นอกเหนือจากนี้แล้วงานวิจัยนี้ยังสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่ใช้ได้จริงในทางอุตสาหกรรมการผลิตยาและวัสดุสารเคมีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสารที่มีอยู่ ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง อีกทั้งยังลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนของประเทศต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร. พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการวิจัยเพื่อพัฒนาพลังงานทางเลือกจากทรัพยากรที่ยั่งยืนจึงเป็นที่ต้องการ การใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนลิกนินให้มีโมเลกุลเล็กลง สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมีจึงมีความสำคัญ

จึงได้ทำการศึกษากลไกการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะนิกเกิล โดยใช้วิธีการคำนวณบนพื้นฐานเคมีควอนตัมเพื่อศึกษาโครงสร้างและพลังงานของโมเลกุล เพื่อเรียนรู้การทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาที่เข้ามามีบทบาทในการลดการใช้พลังงาน นำไปสู่แนวคิดการออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีทั้งโลหะและกรดลิวอิสในโครงสร้างโมเลกุลเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ย่อยพันธะคาร์บอนออกซิเจนให้ได้โมเลกุลที่มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมีได้

โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย ลอรีอัล กรุ๊ป โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและสนับสนุนบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่น โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้มากกว่า 3,100 คน จาก 117 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนทั้งหมดนี้ได้รับรางวัลเกียรติยศนานาชาติ 107 คน และได้รับรางวัลโนเบลถึง 3 คน

สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

จิตอาสาโคเซ่ ร่วมอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมทางทะเล

โคเซ่ “KOSE” จัดกิจกรรม โครงการ Save the blue Project อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล พานักงานจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ ทำความสะอาดบ่ออนุบาลเต่า ทำความสะอาดปะการัง ปล่อยเต่ากลับคืนสู่ทะเล พร้อมกับมอบอุปกรณ์สิ่งของบริจาคที่จำเป็นต่อศูนย์วิจัยฯ

You May Like