“วันส้วมโลก” 19 พ.ย. สธ. ผลักดันคนไทยดูแลสุขอนามัย พัฒนาส้วมสู่มาตรฐาน HAS ช่วยสร้างภาพลักษณ์รับนักท่องเที่ยว พร้อมเผยผลอนามัยโพล “ส้วมตลาดสด” ต้องปรับปรุง
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันส้วมโลก ปี 2565 (World Toilet Day 2022) กระทรวงสาธารณสุขถือเป็นดอกาสในการกระตุ้น และมีนโยบายให้ทุกครัวเรือนได้ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครัวเรือน และพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐาน HAS: สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง
กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลการพัฒนาส้วมสาธารณะในประเทศไทยปี 2562 – 2565 ที่สุ่มตรวจประเมิน 99,814 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (HAS) จำนวน 66,907 แห่ง หรือ คิดเป็น 67.03% ส่วนผลสำรวจอนามัยโพลของประชาชนต่อการใช้ส้วมสาธารณะ ระหว่างวันที่ 14 – 21 ตุลาคม 2565 จำนวน 3,716 คน พบว่า ส้วมสาธารณะที่ประชาชนเห็นว่าควรปรับปรุงมากที่สุด คือ ส้วมในตลาดสด 68.68% รองลงมา คือ สวนสาธารณะ 39.85% และส้วมริมทางสาธารณะ 38.48%
สำหรับส้วมสาธารณะที่สะอาดที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า 68.46% รองลงมา คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 55.30% และโรงพยาบาล 35.82% โดยเหตุผลในการเลือกใช้ส้วมสาธารณะ คือ ความสะอาด ความปลอดภัย และความสะดวก
วันส้วมโลกปีนี้ กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกแห่งร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงส้วมสาธารณะของไทยให้ได้มาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะสร้างสุขอนามัยที่ดี ลดโรคไม่พึงประสงค์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย
สำหรับวันส้วมโลก 2565 (World Toilet Day 2022)กรมอนามัย ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ของทุกปี องค์การส้วมโลก (World Toilet Organization) ได้กำหนดให้เป็นวันส้วมโลก โดยในปี 2565 ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด คือ “Making the invisible visible : ทำสิ่งที่มองไม่เห็น ให้มองเห็นได้” เพื่อพัฒนาระบบสุขาภิบาลให้สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเสียจากมนุษย์ ไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำ เน้นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทั้งระบบใต้ดินและบนดิน ด้วยการจัดให้มีระบบเก็บกักและบำบัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยส่งเสริมให้ประชาชน มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีส้วมใช้ครอบคลุมมากถึง 99.8% และยังไม่มีส้วมใช้ 0.2% หรือประมาณ 40,000 กว่าครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ยากลำบาก และในกลุ่มชาติพันธุ์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนมีส้วมใช้ให้ครอบคลุม 100%