ศูนย์ฯ สิริกิติ์ กลับมาอีกครั้ง กับภาพลักษณ์ใหม่ ที่ทันสมัย แต่ยังไว้ซึ่งอัตลักษณ์ไทย พร้อมกับการเป็น “ที่สุดของอีเวนต์แพลตฟอร์ม” รองรับการจัดงานทุกรูปแบบอย่างไร้ขีดจำกัด
หลังจากปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลาถึง 3 ปีครึ่ง วันนี้ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 กันยายน 2565 เพื่อต้อนรับคณะผู้จัดงาน และผู้ใช้บริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตานานาชาติภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด”
‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ แนวคิดหลักในการปรับปรุง
นายสุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์ฯ สิริกิติ์ เผยว่า จุดมุ่งหมายสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจปรับปรุงศูนย์ฯ สิริกิติ์ คือ ความต้องการแสดงศักยภาพและผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำในธุรกิจอิเวนต์ในเอเชียและระดับโลก ในการพัฒนาโครงการนี้เราได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงบริษัทแถวหน้าในประเทศไทยหลายๆ ด้าน
หนึ่งในนั้นได้แก่ ทีมออกแบบ หรือ “The Creator” ซึ่งประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรมภายนอก สถาปัตยกรรมภายใน และภูมิสถาปัตย์ โดยเป็นการร่วมกันปรับพื้นที่ ภายใต้แนวคิด ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ เพื่อให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่เป็น “ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม”ที่สามารถรองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเป็นสถานที่รองรับแขกบ้านแขกเมือง ที่สะท้อนความเป็นไทยสากลสู่สายตานานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ
สถาปัตยกรรมที่ตอกย้ำว่าศูนย์ฯ สิริกิติ์ เป็นมากกว่า ‘ศูนย์การประชุม’
นายนพดล ตันพิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหัวเรือใหญ่การออกแบบสถาปัตยกรรมของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ เล่าว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ถือเป็นศูนย์การประชุมแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆ ระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน
ดังนั้น ตัวอาคารโฉมใหม่จึงต้องสามารถเก็บเรื่องราวในอดีต และสะท้อนภาพลักษณ์แห่งอนาคต เราจึงได้วางแกนหลักไว้ 3 เรื่อง ได้แก่
- แรงบันดาลใจ (Inspiration)
- บูรณาการ (Integration)
- นวัตกรรม (Innovation)
เริ่มจากดึงคอนเซ็ปต์ ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ มาตีความ เป็นความอ่อนน้อมอันเนื่องมาจากพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ท่าน สู่การใช้เส้นโค้ง เติมความสมบูรณ์ให้พื้นที่นำความเป็นไทยผสานกับสากลมากขึ้น
สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ผสานความเป็นสากล
นางสาวอริศรา จักรธรานนท์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ออนเนียน จำกัด รับหน้าที่ วางคอนเซ็ปต์และตกแต่งภายในเล่าว่า
ความโดดเด่นของพื้นที่ภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์ เรียกได้ว่าเป็นภาพจำใหม่ที่ไม่ว่า ใครก็ต้องพูดถึง ด้วยรายละเอียดที่สามารถเล่าความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน โดยมีแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของชาติอย่าง ‘ผ้าไทย’ ที่มักทรงสวมใส่ด้วยพระองค์เอง เราจึงนำไอเดียดังกล่าวมาต่อยอด ดึงอัตลักษณ์ของผ้าไทยในหลากหลายแบบมาเป็นแกนหลักในการออกแบบ โดยประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ต่างๆ อย่างมีเอกลักษณ์
รังสรรค์พื้นที่แวดล้อมเพื่อ ‘เชื่อมโยงศูนย์ฯ สิริกิติ์ให้เข้ากับสังคมเมือง’
นายยุทธพล สมานสุข ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ จาก บริษัท ฉมา จำกัด ผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม กล่าวถึงการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบศูนย์ฯ สิริกิติ์ว่า ภูมิสถาปัตยกรรม หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบ วางแผน และใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบตัวอาคาร
ดังนั้น ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ จึงได้มีการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมให้เข้ากับอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปเช่นกัน ผ่านการวางแผนให้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์สอดรับกับสภาพสังคมเมืองในยุคปัจจุบันมากขึ้น ยังคงรักษาพื้นที่สีเขียวและการเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ มีการวางระบบให้คนสามารถสัญจรได้ง่าย ไม่หลงทาง ปรับปรุงลานหน้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโลกุตระให้มีความกว้างขวางเพื่อเพิ่มจุดเด่น และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้หลากหลาย รวมถึงองค์ประกอบเล็กน้อยต่างๆมีการจัดเรียงใหม่ให้สวยงามสบายตา เปิดมุมมองสู่สวนเบญจกิติทั้งยังนำพื้นที่จำกัดมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจาก “The Creator” ทั้ง 3 ท่านแล้ว ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยังได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน เพื่อทำให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งด้านเทคโนโลยี ความยั่งยืนและความปลอดภัย เพื่อให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์เป็นสถานที่จัดงานที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีทันสมัย บริการเหนือระดับ ภายใต้มาตรฐานสากล
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ พร้อมเปิดให้สัมผัสความเป็น “ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม” ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2565