องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผลักดันสุรินทร์สู่พื้นที่ต้นแบบฟาร์มไก่โคราชสวัสดิภาพสูง

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:3 Minute, 46 Second

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประกาศความคืบหน้าของโครงการ “ฟาร์มแชมเปี้ยน” ปีที่ 2 ซึ่งกำลังขยับจากเฟสทดลองในปี 2567 ไปสู่การขยายผลในระดับชุมชนอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านจากระบบฟาร์มปิดดั้งเดิมสู่ระบบฟาร์มสวัสดิภาพสูงภายในปี 2568

โมเดลฟาร์มแชมเปี้ยนที่ริเริ่มขึ้นนี้ได้พิสูจน์แล้วในฟาร์มรุ่นแรกว่า การเลี้ยงไก่โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์สามารถทำได้จริงในบริบทไทย ไม่เพียงยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ แต่ยังส่งเสริมความเป็นธรรม ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งเกษตรกร สัตว์ และชุมชนโดยรอบ

ฟาร์มที่เปลี่ยนชีวิต: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ

ปีแรกของโครงการ “ฟาร์มแชมเปี้ยน” ไม่ได้เป็นเพียงการทดลองเชิงนโยบาย หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเกษตรกรไทย ผลลัพธ์จากการเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไก่มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นจากการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธรรมชาติ เช่น พื้นที่ปล่อยอิสระ การได้รับแสงแดด อากาศถ่ายเท และโอกาสในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ อัตราการรอดชีวิตจึงเพิ่มจาก 95% เป็น 99%

ที่สำคัญ ฟาร์มในโครงการสามารถเลิกใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างสิ้นเชิง และหันมาใช้แหล่งโปรตีนทางเลือกจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น หนอนแมลงวันลาย แหนแดง ไข่ผำ และสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้หลายพันบาทต่อรุ่น ขณะเดียวกันเกษตรกรยังสร้างรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายไก่สวัสดิภาพสูง ซึ่งมีมูลค่าในตลาดที่สูงขึ้น

ก้าวต่อไป: ขยายผลสู่ชุมชน

ความสำเร็จของปีแรกได้กลายเป็นแรงผลักดันให้โครงการเดินหน้าสู่ปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์จากระบบฟาร์มปิดสู่ฟาร์มสวัสดิภาพสูง ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงไก่โคราช ซึ่งเป็นพันธุ์โตช้าและมีความทนทาน แตกต่างจากสายพันธุ์ในระบบอุตสาหกรรมที่เน้นโตเร็วแต่ส่งผลต่อสวัสดิภาพสัตว์

ขณะนี้ โครงการอยู่ในช่วงคัดเลือกเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ระหว่าง 500–1,200 ตัว เพื่อเข้าร่วมในปีที่ 2 โดยจะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน 2568 และยกระดับเกษตรกรรุ่นแรกให้เป็น “พี่เลี้ยง” ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมรุ่นใหม่ เสริมสร้าง “เครือข่ายเกษตรกรชุมชนต้นแบบ” ที่แข็งแรงจากภายใน และผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระยะยาว

เสียงจากผู้ร่วมทาง

แผ้ว ภิรมย์ ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหารขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า

“จุดเปลี่ยนสำคัญในปีนี้ คือการวางรากฐานระบบอาหารที่ยุติธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งเกษตรกร ไก่ และผู้บริโภค โดยมีชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก การเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูงไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เป็นรูปธรรมที่พิสูจน์แล้วว่าให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม”

ด้าน ธวัชชัย พวงจันทร์ เจ้าของ “พลูโตฟาร์ม” หนึ่งในฟาร์มต้นแบบ กล่าวว่า

“ก่อนเข้าร่วมโครงการ เราเลี้ยงไก่ระบบปิดและใช้ยาปฏิชีวนะตลอด แต่หลังจากเปลี่ยนมาใช้แนวทางฟาร์มสวัสดิภาพสูง เราแทบไม่ต้องใช้ยาเลย ไก่แข็งแรงขึ้น รายได้ก็ดีขึ้นเพราะขายได้ในราคาสูงขึ้น และเรารู้สึกภูมิใจที่ได้ใส่ใจคุณภาพชีวิตของสัตว์ ปีนี้ยิ่งดีใจที่ได้เป็นพี่เลี้ยงเพื่อส่งต่อประสบการณ์ให้เกษตรกรรุ่นใหม่”

สมจิตร นามสว่าง นายก อบต.หนองสนิท และเจ้าของ “สว่างรุ่งเรืองฟาร์ม” เสริมว่า

“บทบาทของพี่เลี้ยงไม่ได้หยุดแค่เรื่องเทคนิค แต่ยังรวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นว่า ฟาร์มสวัสดิภาพสูงเป็นไปได้ และเป็นไปได้อย่างยั่งยืน”

พลังผู้บริโภค: แรงผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลง

อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญคือเสียงจากผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพในจังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง ที่แสดงความต้องการเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เลี้ยงด้วยแนวทางสวัสดิภาพสูง ซึ่งช่วยเสริมแรงจูงใจให้เกษตรกรเดินหน้าสู่ระบบการเลี้ยงที่ปลอดภัยและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ฟาร์มแชมเปี้ยน: โมเดลทางเลือกของระบบอาหารในอนาคต

โครงการ “ฟาร์มแชมเปี้ยน” ไม่ได้เพียงเปลี่ยนวิธีเลี้ยงไก่ แต่กำลังปฏิวัติระบบอาหารไทยในภาพรวม ด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียม (Equitable) ผ่านการลดการพึ่งพาบริษัทขนาดใหญ่ กระจายรายได้สู่เกษตรกรรายย่อย พร้อมสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม (Humane) ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของสัตว์ ลดการใช้ยา และสร้างความยั่งยืน (Sustainable) ให้กับสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้ยังเน้นการใช้ไก่พันธุ์พื้นเมืองโตช้าอย่าง “ไก่โคราช” ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ สะท้อนวิสัยทัศน์การสร้างระบบอาหารที่สมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

AI agent ป่วนตลาดการจ้างงาน "การเงิน-ค้าปลีก-โลจิสติกส์" เจอแน่

ตลาดแรงงานระส่ำหนัก PwC คาด AI agent พลิกโฉมการจ้างงานไทยในอีก 1- 2 ปี เผยองค์กรมีโอกาสลดอัตราการจ้างงานใหม่ ขณะที่แรงงานเดิมได้รับผลกระทบ เหตุเพราะ AI agent ช่วยลดความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของมนุษย์ในงานบางประเภท และยังเพิ่มประสิทธิภาพ-ความเร็วในการนำสินค้าออกสู่ตลาดได้กว่า 50% โดยเฉพาะใน กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน ค้าปลีก และโลจิสติกส์

You May Like