“อายิโนะโมะโต๊ะ” เปิดต้นแบบโรงงานสีเขียวกำแพงเพชร แนะนำ “อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน” กับภารกิจ ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ผลักดันสโคป 3 เดินหน้า สู่เป้า Net Zero เทงบกว่า 3,000 ล้านพัฒนาเทคโนโลยีเสริม ถึงปี 2030
เค็นจิ ฮะระดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะมีเป้าหมายความยั่งยืนภายในปี ค.ศ.2030 อยู่ 2 ด้าน คือ 1. มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ของผู้คน 1,000 ล้านคนทั่วโลก โดยเน้นการใช้ศาสตร์แห่งอะมิโน และ 2. ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องความยั่งยืน ด้วยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานลง 50%
อายิโนะโมะโต๊ะให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน โดยวางงบประมาณตั้งแต่ปัจจุบัน ถึงปี ค.ศ.2030 อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท
อายิโนะโมะโต๊ะ เริ่มทำโครงการ Too Good To Waste เพื่อลดขยะอาหาร เริ่มครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายต้องการสร้างการรับรู้ในสังคม แนะนำการทำอาหารง่ายๆ ที่บ้าน จากทุกส่วนของวัตถุดิบที่มี ช่วยลดเศษอาหารที่บ้าน และช่วยซัพพอร์ตในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้โปรโมทโครงการนี้กับน้องๆ นักศึกษา เพื่อสร้างการรับรู้
บริษัทฯ มีแผนดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตในโรงงาน การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน การต่อยอดสู่ภาคครัวเรือน และภาคเกษตรกรรม ภายใต้แนวคิด “Ajinomoto Biocycle” เพื่อมุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลง 50% ได้สำเร็จ ภายในปี ค.ศ.2030
แผนการดำเนินงานสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน ค.ศ.2030 บริษัทฯ วาง 5 แนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50%
- ดูแลรักษาแหล่งน้ำ 80%
- ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล
- ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต
- จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนทั้ง 100%
ภาคการผลิตในโรงงาน อายิโนะโมะโต๊ะ มีเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 3.8 แสนตันต่อปี ลดการใช้น้ำและพลาสติกจากการดำเนินงาน การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เป็นวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ได้ถึง 70% หรือประมาณ 1,300 ตัน ยูนิฟอร์มของพนักงานอายิโนะโมะโต๊ะ ผลิตขึ้นจากขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว โดยทั้งหมดเดินหน้าตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 50% ในปี 2030
อายิโนะโมะโต๊ะสร้างโรงงานกำแพงเพชร ให้เป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว มีการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น “เทคโนโลยีหม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวล” การก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากชีวมวล” ที่นำแกลบและชานอ้อยที่เหลือจากภาคการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระบวนการผลิตภายในโรงงาน การติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์บนหลังคา การจัดการน้ำในโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการจัดการในโรงงาน การลดปริมาณการใช้พลาสติกระหว่างกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ rและสร้างวงจรเชิงบวกอย่างยั่งยืน
ส่วนการจัดหาวัตถุดิบ บริษัทฯ เลือกใช้กระดาษที่ผ่านการรับรอง FSC ได้ทั้งหมด 100% การเลือกใช้น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากปาล์ม ที่ผ่านการรับรอง RSPO กว่า 100% และการเลือกใช้เนื้อหมูที่ได้จากการเลี้ยงที่คำนึงถึง Animal welfare
โรงงานกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับการทำเรื่อง วัฏจักรชีวมวล (Bio – Cycle) ช่วยเสริมสร้างคุณภาพดินในท้องถิ่น มีการซื้อแกลบจากชาวบ้านเข้ามาผลิตเป็นเชื้อเพลิง ลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการทำน้ำร้อน ทำให้สามารถลดการซื้อพลังงานไฟฟ้าลงได้ 40%
ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอฟ ดี กรีน เป็นหน่วยงานหนึ่งในอายิโนะโมะโต๊ะ ที่แยกออกมาตั้งเป็นบริษัท ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 และปรับชื่อจาก เอฟ ดี กรีน มาเป็น อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับตัวองค์กร ซึ่งเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ 1 เมษายน 2024 โดยภารกิจคือ การขับเคลื่อนการเกษตรอย่างยั่งยืน และทำงานเชื่อมโยงกับ 3 โรงงานของอายิโนะโมะโต๊ะ ได้แก่ โรงงานอยุธยา กำแพงเพชร และปทุมธานี
เอฟ ดี กรีน นำ Co-Product จาก 3 โรงงาน มาสร้างเป็นปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยเม็ด วัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น และยังสร้างโครงการ Thai Farmer Better Life Partner ที่เข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้ความรู้แก่เกษตรกร จัดสรรปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ ทำให้ลดการใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งโครงการนี้ในอนาคตจะเป็นสัญลักษณ์ของอายิโนะโมะโต๊ะ ในเรื่องการสร้างความยั่งยืน และถือเป็นแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สโคป 3 ที่อายิโนะโมะโต๊ะพัฒนา เพื่อสร้างอีโคซิมเต็มตลอดห่วงโซ่ของซัพพลายเชน ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสัมปะหลัง วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตผงชูรส
สโคป 3 คือเรื่องของการขนส่ง การสนับสนุนและบริการ สโคป 1 ทำเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับหม้อต้มไอน้ำพลังงานร่วม สโคป 2 ไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม สำหรับสโคป 3 เมื่อ เอฟ ดี กรีน ทำระบบไปถึงเกษตรกรได้ เพิ่มผลผลิตในไร่ ก็ช่วยลดคาร์บอนได้ ตรงนี้เพิ่มส่วนของสโคป 3 ชัดเจน
สิ่งที่อายิโนะโมะโต๊ะคาดหวังอยากให้เกิดจากการทำโครงการ Thai Farmer Better Life ประเด็นแรก คือ เรื่องของการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น สอง คือ เรื่องการตรวจสอบกลับ เรื่องของมันสำปะหลัง ที่ซื้อมาใช้ในการทำผงชูรส เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับ บริษัท เอฟดี ที่มีการจัดเตรียมปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้
ภาคเกษตรกรรม ต่อยอดองค์ความรู้ด้านกรดอะมิโน ผ่านผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรส เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถผลิตผลผลิตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Ajinomoto Biocycle” ซึ่งเป็นแนวทางวัฏจักรชีวภาพในกระบวนการผลิต
“เราต้องการให้เกิดการแข่งขัน ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น สร้างให้เกิดอีโคซิสเต็ม การใช้อะมินาจะทำให้เกษตรกรลดการใช้เคมีลงได้”
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็น “บริษัทต้นแบบทางธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ตั้งเป้ารุกภาคการเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดการกับ “ผลิตภัณฑ์ร่วม” ที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรสและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร เช่น ล่าสุดได้แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ปุ๋ยอามินา’ ที่มาจากการใช้เทคโนโลยีการหมักของบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ มาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพที่อุดมด้วยแบคทีเรียที่ดีต่อพืช มีคุณสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากและเพิ่มสารอาหารในดิน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น