อิเกีย ร่วมกับ STEPS จัดทำพื้นที่ “Inclusive Office” โมเดลออฟฟิศต้นแบบสำหรับทุกกลุ่มคน เสริมศักยภาพการทำงานอย่างเท่าเทียม ตอบรับทุกความต่าง…Make the world everyone’s home
“วรันธร เตชะคุณากร” ผู้จัดการแผนก Inspiration & Communication อิเกีย ประเทศไทย เล่าถึงความร่วมมือในการทำโครงการ Inclusive Office ว่า ที่อิเกีย เคารพในทุกความต่าง และต้องการที่จะสร้างโลกใบนี้ให้เป็นบ้านสำหรับทุกคน ให้สามารถใช้ชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน อิเกีย จึงได้ออกแบบสินค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านความสวยงาม ราคา และฟังก์ชั่น เพื่อรองรับการใช้งานของคนที่มีความแตกต่างในสังคม
เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เราตระหนักดีถึงศักยภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ (Neurodivergent people) รวมไปถึงบุคคลที่มีภาวะออทิสซึม ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ พวกเขาสามารถทำงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราจะต้องออกแบบสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และแตกต่างของผู้ใช้งาน
“แม็กซ์ ซิมป์สัน” CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง STEPS Community กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะสร้าง Inclusive Community หรือชุมชนที่ไม่แบ่งแยก จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้ร่วมมือกับอิเกีย องค์กรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน ในการจัดทำโมเดลต้นแบบออฟฟิศสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความพิการ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ ออฟฟิศต้นแบบของเรามีพื้นที่ 100 ตร.ม. รองรับคนทำงาน 25 คน โดยอิเกียได้ให้การสนับสนุนด้านเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่ง มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเนรมิตพื้นที่ให้มีความสวยงามลงตัว มอบความสุขในการทำงานให้กับพนักงานของ STEPS
ถอดรหัส 5 เทคนิคการจัดพื้นที่และออฟฟิศที่ออกแบบสำหรับทุกคน
- จัดแบ่งพื้นที่ตามกิจกรรมหรือประเภทงานที่ทำ เพื่อช่วยให้คนทำงาน/พนักงาน โฟกัสกับงานที่รับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น อาจหาตู้วางของ หรือตู้หนังสือมาช่วยแบ่งโซน
- เลือกความสว่างและแสงไฟที่เหมาะสมกับแต่ละคน แสงไฟ หรือความสว่างมีผลต่อการทำงาน ดังนั้นการเลือกใช้ไฟที่สามารถปรับหรือกระจายความสว่าง หรือปรับความสูงได้ ก็จะช่วยให้คนทำงานแต่ละคน สามารถปรับได้ตามความชอบ โดยไม่รบกวนเพื่อนร่วมงานคนอื่น
- เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมกับแต่ละคน เก้าอี้เป็นอีกหนึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่แต่ละคนมีความถนัดหรือความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบแบบมีล้อเลื่อน บางคนชอบแบบที่อยู่นิ่ง บางคนชอบแบบมีที่วางแขน รวมถึงความสูงต่ำของพนักพิง ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เลือกเก้าอี้ด้วยตัวเอง แต่สามารถคุมโทนได้โดยการใช้สี หรือวัสดุแบบเดียวกัน
- เลือกโต๊ะทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละคน ควรเลือกใช้โต๊ะที่สามารถปรับระดับความสูงได้ให้เหมาะกับการใช้งานและสรีระของแต่ละคน นอกจากนี้ พนักงานบางคนชอบที่จะยืนทำงานเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือบางงานจำเป็นจะต้องยืนทำงานเพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวก
- จัดพื้นที่ให้เป็นระบบ การวางระบบ/แบบแผน (systematic) ไว้ล่วงหน้าว่าอะไรจะต้องอยู่ตรงไหนเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพื่อตอบโจทย์ workflow หรือกระบวนการทำงาน จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น