เอกชนผนึกกำลัง สร้างเครือข่าย TSCN ร่วมขับเคลื่อน พร้อมยกระดับความยั่งยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ซัพพลายเชน ทั้งบิ๊กคอร์ป – SMEs พร้อมทั้งจัดมอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award ให้ 48 องค์กร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำจริง ยกระดับประเทศไทยต้องยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
ต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้อำนวยการคณะจัดงาน SX 2024 และเลขานุการคณะทำงาน TSCN พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารจากองค์กรเครือข่าย TSCN ร่วมให้ข้อมูลว่า เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network) หรือ “TSCN” ก่อตั้งขึ้น ในปี 2019 เป็นความร่วมมือกับคู่ค้ารายสำคัญของบริษัทผู้ก่อตั้ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จํากัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และขยายธุรกิจไปในยังต่างประเทศ หรือตลาดอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดความร่วมมือไปสู่ภาคธุรกิจในวงกว้าง ตั้งแต่องค์กรระดับใหญ่ ไปจนถึง SMEs
TSCN ได้เปิดให้บริการระบบ TSCN Platform (https://thailandsupplychain.com/) เครือข่ายสังคมธุรกิจออนไลน์ สำหรับเชื่อมโยงพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพจากหลากหลายอุตสาหกรรม ผ่านการจับคู่อุปสงค์และอุปทานในการทำธุรกิจ และเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจไทย
นอกจากนี้ คณะผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-founders) ยังได้มีการลงนามประกาศเจตนารมย์แนวทางปฏิบัติคู่ค้าของ TSCN หรือ TSCN Business Parter Code of Conduct เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกยึดถือและปฏิบัติตามคุณค่า และหลักการต่อไปนี้
– การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การป้องกันมลพิษ
– ความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบด้วย สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การมีส่วนร่วมของชุมชน
– ธรรมาภิบาลและจริยธรรม ประกอบด้วย ต่อต้านการทุจริต ความโปร่งใสและการรายงาน การจัดซื้อจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ
ภายในงาน TSCN Business Partner Conference ที่จัดร่วมกับ Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ที่ผ่านมาได้มอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award เป็นครั้งแรก ให้กับองค์กรในเครือข่าย 48 บริษัท โดยองค์กรที่ได้รับรางวัลดังกล่าวได้รับการคัดเลือกและเสนอชื่อจาก TSCN Co-founders ทั้ง 9 องค์กร เป็นบริษัทที่มีการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ TSCN Co-founders โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนให้เป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนต่อไป ซึ่งทั้ง 48 องค์กรมีการดำเนินงานที่สามารถวัดผลได้ชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อม และหรือด้านสังคม อาทิ
o โครงการระบบตรวจสอบย้อนกลับ บนเทคโนโลยีบล๊อคเชนเพื่อติดตามที่มาถั่วเหลืองจากแหล่งปลูก ที่ไม่บุกรุกป่า ของ บริษัท บังกี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายห่วงโซ่อุปทานปลอดการตัดไม้ทำลายป่า 100%
o โครงการกล่องหมุนเวียนของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการนำกล่องกระดาษลูกฟูกที่ยังคงอยู่ในสภาพดีมาใช้ซ้ำ เพื่อลดความจำเป็นในการผลิตกล่องใหม่ โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เช่น กระดาษและพลังงานในการผลิต แต่ยังช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด
o โครงการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของบริษัท ปัญจพลไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้และลดการใช้ทรัพยากรใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้สนับสนุนกระบวนการรีไซเคิลตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการจัดการหลังการใช้งาน เพื่อลดปริมาณขยะและการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย
o โครงการบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อความยั่งยืนของบริษัท เค.เอฟ.พาราวูด จำกัด มุ่งเน้นการออกแบบและผลิตพาเลทไม้โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โครงการนี้ใช้วัตถุดิบจากไม้ที่ได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ไม้ใหม่และสนับสนุนการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
o การจัดการของเสียอย่างยั่งยืนของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งการบำบัด การกำจัดของเสีย และการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การผลิตพลังงานจากขยะและการทำเชื้อเพลิงผสม โครงการนี้ช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องฝังกลบ และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
o โครงการด้านความยั่งยืนในการจัดการของเสียของ บริษัท โชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด มีการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตไปผ่านกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
o โครงการส่งมอบความรู้ทางการเงินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานของ บริษัท แรบบิท แคช จำกัด มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social, Governance) ด้าน “S” (Social) โดยการให้ความรู้และทักษะในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลช่วยให้พนักงานสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระหนี้สินและความเครียด ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่สนับสนุนความเป็นอยู่ของพนักงาน แต่ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรในระยะยาว
o โครงการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมหมุนเวียนแบบวงปิดของ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโครงการที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้หลักการนำกระป๋องอลูมิเนียมที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่อย่างต่อเนื่อง กระบวนการนี้ช่วยลดการใช้วัตถุดิบใหม่และลดการปลดปล่อยคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
o โครงการการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบของบริษัท ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จำกัด มุ่งเน้นการปฏิบัติตามนโยบายการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจและหลักปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเคร่งครัด โครงการนี้ส่งเสริมให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน การจ้างงานอย่างเป็นธรรม และการจัดการทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ ซึ่งช่วยสร้างความโปร่งใสและความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
ต้องใจ กล่าวว่า TSCN พยายามผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศไทยในการที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2598
คณะผู้ร่วมก่อตั้ง TSCN มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคู่ค้าในเครือข่ายให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการจัดอบรม Train-the-Trainers ภายใต้ Thailand Sustainability Academy (TSA) ในช่วงงาน SX 2024 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับคณะทำงานของ TSCN ให้มีศักยภาพในการอบรมคู่ค้ารายย่อยให้สามารถจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปจนถึงการจัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้อย่างชัดเจน
อีกทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย ในการจัดงานมหกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (Sustainability Expo) ตั้งแต่ปี 2020 มาจนถึงปัจจุบัน ที่ล่าสุดได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ “เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมารวมพลังเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้น่าอยู่อย่างยั่งยืนไปด้วยกันกับงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) ที่ได้จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยการมอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award ครั้งแรกนี้ ได้จัดขึ้นภายในงาน TSCN Business Partner Conference ที่จัดร่วมกับ SX 2024