ความก้าวหน้าของโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถูกกำหนดด้วยฝีแปรงแห่งโชคชะตาของเทคโนโลยีและ สิ่งประดิษฐ์ ในยุคโบราณประเทศจีนเคยเป็นผู้นำในการสร้าง 4 สิ่งประดิษฐ์ คือ ‘กระดาษ แท่นพิมพ์ เข็มทิศ และดินปืน’ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานวิทยาการสำคัญที่สร้างอารยธรรมของมนุษยชาติ ในยุคดิจิทัลเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่จัดว่าเป็นสุดยอด ‘จตุรนวัตกรรม’ ประกอบด้วย
ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ (nutavootp@gmail.com) ผู้เชี่ยวชาญดานพัฒนาทรัพยากรบุคคล และอดีต และอดีตรองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการ นโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า‘เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ ระบบปัญญา ประดิษฐ์ และดิจิทัลคอนเวอร์เจนซ์’ ซึ่งเป็นกลไกหลักที่นำไปสู่การสร้างอุปกรณ์ไฮเทคจำนวนมากตั้งแต่การสื่อสารเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่หลอมรวมดิจิทัลเทคโนโลยีให้กลายเป็นระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนแปลงบริบทการทำธุรกิจแบบดั่งเดิมไปโดยสิ้นเชิงหรือ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อควบคุมจักรกลอัจฉริยะ ตลอดจนแอพ กูเกิล เอิร์ธ ที่ทำให้ทุกพื้นที่บนโลกใบนี้สามารถค้นหาและมองเห็นได้โดยใช้แค่ปลายนิ้ว
เทคโนโลยีดิจิทัลทําให้ชีวิตเราสะดวกสบายเกินกว่าคนรุ่นก่อนจะจินตนาการได้ แม้ว่าอาจจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัวหรือทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตขาดสมดุลไปบ้าง แต่ยังมีบางเทคโนโลยีที่การนำมาใช้อาจสร้างเงื่อนไขทางจริยธรรม หรือคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและความมั่นคงของสังคม เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องต้องห้ามทั้งในเชิงกฏหมายและจริยธรรม แม้กระนั้นก็ตามยังมีการแอบพัฒนาอย่างลับๆ ทั้งโดยเอกชนและภาครัฐเอง ตัวอย่างเทคโนโลยีต้องห้ามที่มีความคืบหน้าในการพัฒนาไปมาก คือ ตัวอ่อนมนุษย์เทียม (Artificial Human Embryo) หุ่นยนต์สังหาร (Killer Robot) การปลอมแปลงอัตลักษณ์ขั้นสูง (Deepfake) และเว็บไซต์อำพราง (Dark Web)
ตัวอ่อนมนุษย์เทียม (Artificial Human Embryo) การโคลนนิ่งมนุษย์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลาย ประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของยุโรปเนื่องจากเหตุผลด้านศิลธรรมและจริยธรรม องค์กรระหว่างประเทศชื่อ Human Fertilization and Embryology Authority (HFEA) ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 มีหน้าที่ควบคุมและออกใบอนุญาตการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์และการเจริญพันธุ์ให้อยู่ภายใต้ ‘กฎ14วัน สำหรับการวิจัยตัวอ่อน’
นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างตัวอ่อนมนุษย์ ในการวิจัยสเต็มเซลล์ได้ไม่เกิน 14 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ตัวอ่อนยังไม่ได้พัฒนาระบบประสาทกลาง และต้องถูกทำลายก่อนครบกำหนด 14 วัน เพื่อไม่ให้เติบโตกลายเป็นสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ รวมถึงความเสี่ยงที่ร่างกายจะไม่ตอบสนองต่ออวัยวะบริจาค ทำให้มีความต้องการสร้างอวัยวะใหม่ ด้วยเทคนิคการนำสเต็มเซลล์มนุษย์ใส่เข้าไปในตัวอ่อนของสัตว์ หรือ คิเมร่า(Chimera) เพื่อปลูกอวัยวะมนุษย์ เช่น ตับ หรือไต ที่มีคุณภาพในสัตว์ชนิดอื่น
ในปี ค.ศ. 2019 ศาสตราจารย์ เบลมอนเต ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกมูร์เซีย ของสเปนและสถาบันซอลค์ ในสหรัฐอเมริกา ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างคิเมร่า จากสเต็มเซลล์ของมนุษย์ฉีดเข้าไปในตัวอ่อนของลิง การทดลองดังกล่าวทำที่ห้องปฏิบัติการในประเทศจีนเพื่อหลีกเลี่ยง ‘กฎ14วัน สำหรับการวิจัยตัวอ่อน’
รัฐบาลญี่ปุ่นก็เคยอนุมัติให้นักวิทยาศาสตร์ทดลองเลี้ยงตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งหนู ทั้งยังอนุญาตให้ตัวอ่อนไคเมราเติบโตจนครบกำหนดคลอดและลืมตามาดูโลกได้ด้วย การกระทำดังกล่าวสร้างคำถามทางจริยธรรมจากหลายฝ่าย เช่น ถ้าหากสเต็มเซลล์ของมนุษย์หลุดเข้าไปในสมองของสัตว์ จะทำให้สัตว์มีสติรับรู้เหมือนคนหรือไม่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากสเต็มเซลล์เหล่านี้ได้กลายเป็นเซลล์สืบพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยอ้างว่าได้สร้างกลไกทำลาย สเต็มเซลล์ประสาทมนุษย์โดยทันทีถ้าบังเอิญหลุดเข้าไปในสมองสัตว์
หุ่นยนต์สังหาร (Killer Robot) การพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบปัญญาประดิษฐ์ทำให้การสร้างหุ่นยนต์ใช้งานในสนามรบเพื่อลดการเสียชีวิตของทหารกลายเป็นหนึ่งในการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่อันตราย และสร้างความกังวลในประเด็นศีลธรรม กฎหมาย และความรับผิดชอบ
หุ่นสังหารที่พัฒนามีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋ว โจมตีด้วยการกลุ้มรุมนับหมื่นนับแสน ไปจนถึงระบบอาวุธอัตโนมัติที่โจมตีจากทางอากาศ ภาคพื้นดิน หรือจากใต้ทะเล แต่ที่ได้รับการพูดถึงกันมากคือ ปืนกลนิวรัลเน็ต ขนาด7.22 มิลลิเมตร ติดตั้งกล้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ที่สร้างเลียนแบบเส้นใยประสาทของมนุษย์ และถูกออกแบบมาให้เรียนรู้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้สามารถตัดสินใจเล็งเป้าหมายได้เองโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม
ผู้เชี่ยวชาญทางทหารหลายคนเชื่อว่าหุ่นยนต์สังหารกำลังจะกลายเป็นกำลังหลักในการทำสงคราม และกังวลว่า ถ้าหุ่นยนต์พวกนี้เผชิญกับอะไรบางอย่างที่ไม่เคยพบมากก่อน จะไม่มีการตัดสินใจที่ยืดหยุ่นแบบมนุษย์ ความผิดพลาดอาจจะนำไปสู่การสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ การทำลายล้างเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางการทหาร และการโจมตีพวกเดียวกันเองโดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งโอกาสที่อาวุธดังกล่าว อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการก่อการร้าย
ในปี ค.ศ. 2015 นักวิทยาศาสตร์และผู้นำด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 คน รวมทั้ง อีลอน มัสก์เจ้าของเทสลา และสเปซเอ็กซ์ กับตัวแทนของ กูเกิล และไมโครซอฟท์ เข้าชื่อกันทำจดหมายถึงสหประชาชาติ เรียกร้องให้จำกัดการพัฒนา “ระบบอาวุธทำลายล้างอัตโนมัติ” หรือ “หุ่นยนต์สังหาร” ที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถเลือกและสังหารเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง แต่ประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนาและอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย และอังกฤษ ไม่เห็นด้วย ทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์สังหารมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าได้ เร็วกว่าการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเสียอีก
การปลอมแปลงอัตลักษณ์ขั้นสูง (Deepfake) การพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์สร้างดีปเฟก (Deepfake) เพื่อเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์ในการเรียนรู้ เก็บข้อมูล และประมวลผลอัตลักษณ์บุคคล ใบหน้า สีผิว รวมถึงรูปแบบการเคลื่อนไหว การพูดจา และน้ำเสียง ทำให้สามารถนำเสนอใบหน้าของบุคคลนั้นในรูปแบบต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระราวกับบุคคลจริงมาปรากฏตัวซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น Lyrebird และ Baidu DeepVoice ใช้เลียนแบบเสียง Adobe Cloak ช่วยในการตัดต่อภาพรวมทั้ง FaceSwap และ Deep Video Portraits ใช้ในการสลับใบหน้า หรือแปลงการขยับหน้า ตา ปาก ของคนคนหนึ่งไปเป็นของอีกคนหนึ่ง
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2018 สำนักข่าวซินหัว ของประเทศจีนได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างผู้อ่านข่าวเสมือนคนแรกของโลก ซึ่งดูแทบจะไม่แตกต่างจากผู้อ่านข่าวจริง อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำไปใช้ปลอมแปลงอัตลักษณ์บุคคลในรูปแบบวีดีโอที่เรียกว่า ดีปเฟก ไม่เพียงเลียนแบบภาพ แต่ยังเลียนแบบเสียง ท่าทางการพูด เนื้อหาที่พูด ของดาราและคนดังมากกว่า 15,000 วิดีโอ กลายเป็นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber Bullying) ปลุกปั่นกระแสสร้างความแตกแยก และทำให้เสียชื่อเสียง หน่วยงานภาครัฐเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีดีปเฟกไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การปลอมแปลงเป็นญาติหลอกเงินผู้เสียหาย หรือสร้างความเข้าใจผิดทางการเมือง สถิติการเติบโตของวิดีโอดีปเฟกในปี ค.ศ. 2018 มีอัตราการเติบโตขึ้นเกือบ 100% คาดว่าในอนาคตดีปเฟกจะเรียนรู้เองจนสามารถสร้างภาพความคมชัดสูง และท่าทางที่เสมือนจริงได้จนตรวจสอบได้ยากขึ้น
เว็บไซต์อำพราง (Dark Web) เว็บไซต์ที่ใช้งานกันทั่วไปจะอยู่บนพื้นที่เปิดและเข้าถึงได้ง่าย แต่ในอีกโลกหนึ่งยังมีเว็ปที่ไม่สามารถค้นหาด้วย Google หรือ Search Engine ทั่วไป เรียกว่าเว็บไซต์อำพราง (Dark Web) เนื่องจากมีการใช้เครือข่ายทอร์ (The Onion Router -Tor) ช่วยปกปิดเส้นทางของข้อมูล มีการเข้ารหัส และระบุตัวตนไม่ได้ ทำให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากการถูกติดตามบนโลกออนไลน์ ที่รู้จักกันดี เช่น Silk Road Agora และ AlphaBay เว็บไซต์อำพรางจัดเป็นเทคโนโลยีต้องห้าม เพราะถูกนำไปใช้เผยแพร่เนื้อหาดิบ เถื่อน มีความอ่อนไหวในเชิงศิลธรรม และผิดกฏหมาย รวมทั้งยังถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มฟอกเงิน ซื้อขายสิ่งของผิดกฏหมายทั้งในแบบนำมาวางขาย หรือในลักษณะเว็บตลาดสินค้า ด้วยเหตุผลของการที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจน จึงทำให้หน่วยงานทางกฏหมายเข้าไม่ถึงต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้นของเว็บต้องห้ามเหล่านี้
แม้ว่าเทคโนโลยี คือสิ่งสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าให้มนุษยชาติ แต่เทคโนโลยีเองก็เปรียบเสมือนดาบสองคม หากถูกนำไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล แต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิดจริยธรรม หรือกฏหมาย ก็อาจสร้างความเสียหายทั้งในระดับบุคคลและในวงกว้าง พลังอำนาจของเทคโนโลยีอาจไม่ได้อยู่กับคนที่สร้างมันขึ้นมา แต่อยู่ที่การนำไปใช้มากกว่า ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีต้องห้ามในที่สุด