GIZ – เป๊ปซี่โค ยกระดับห่วงโซ่อุปทานการเกษตรไทย เสริมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่ออนาคต สนับสนุนการปลูกพืชหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทาน ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวิตพร้อมรับมือวิกฤตสภาพอากาศ
สุดิปโต โมซุมดา ผู้บริหารจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และบริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด ผนึกกำลังกับภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น ประกาศความสำเร็จโครงการ RePSC ที่ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานของข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ด้วยเทคโนโลยีและการเกษตรแบบยั่งยืน พร้อมรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความท้าทายของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรไทย โดยเฉพาะการลดพื้นที่เพาะปลูกและการเพิ่มของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและดินถล่ม โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรเข้าใจและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้วยการฝึกอบรมและแนะนำเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของเกษตรกรไทยทุกคน
โครงการ RePSC เกษตรกรในเชียงใหม่และเชียงรายกว่า 2,000 คน เข้าร่วมฝึกอบรมในด้านการเกษตรแบบหมุนเวียน การจัดการศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยี GPS และการดูแลดิน-น้ำอย่างยั่งยืน ผลจากการร่วมมือทำให้รายได้สุทธิเกษตรกรเพิ่มขึ้น และพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่กว่า 1.3 หมื่นไร่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 20% ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสังคมการเกษตรที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก
หนึ่งในสี่ของเกษตรกรในโครงการนี้เป็นผู้หญิง GIZ และเป๊ปซี่โค ได้ร่วมส่งเสริมบทบาทสตรีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและการเกษตรอย่างเต็มที่ นางวิสา หล้าคำภา ตัวแทนเกษตรกรสตรี กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้เราได้เรียนรู้มาตรฐานและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรในระยะยาว
โครงการ RePSC นับเป็นตัวอย่างของการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรรายย่อยในไทย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่วิกฤตภูมิอากาศกำลังคุกคามความมั่นคงทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้