“คนตีไฟ” ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เรียกเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ซึ่งปัจจุบัน เรามักจะคุ้นมากกว่ากับคำว่า “เสือไฟ” ซึ่งหมายถึงชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ “เหยี่ยวไฟ” ที่เป็นชุดของกรมป่าไม้
สำหรับกิจกรรมที่เอปสันจะพาพี่น้องสมาชิก Epson Wild Line นี้ ไปร่วมทำกันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง มีชื่อว่า “เรื่องจริงของคนตีไฟ” จะเป็นการจำลองภารกิจจริงของคนตีไฟ โดยสถานที่ที่เราจะไปกันคือสถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกรมอุทยานแห่งชาติฯ
ในชีวิตจริงของเจ้าหน้าที่สถานีแห่งนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับฮีโร่นักผจญเพลิงทุกคนทั่วประเทศ ที่ยามไร้ไฟป่า ก็ต้องออกประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ให้ความรู้ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายประชาชนให้เฝ้าระวังและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดไฟป่า พร้อมกับออกลาดตระเวนตรวจการณ์หาไฟป่า จัดทำแนวกันไฟ เพื่อลดความต่อเนื่องของเชื้อเพลิง ไปจนถึงปรับปรุงและติดตั้งป้ายดัชนีความรุนแรงของไฟใหม่แทนของเดิมที่ชำรุด จัดเตรียมและปรับปรุงอุปกรณ์ดับไฟป่า และติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์การป้องกันไฟป่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นกิจวัตรที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี
หลังจากนั้น ก็เข้าสู่ช่วงระวังไฟป่า ซึ่งกินเวลานานถึง 8 เดือน ตั้งแต่ตุลาคมไปจนถึงพฤษภาคมอีกปี เรียกว่า ป่าแห้งจากฝนได้ไม่เท่าไหร่ ไฟป่าก็เกิดขึ้นได้ทันที และอาจจะเกิดขึ้นในย่อมพื้นที่ไหนก็ได้ มองกันง่ายๆ ก็คือ อาชีพคนตีไฟใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการเสี่ยงภัย แต่ถ้าใครคิดว่า ศัตรูของคนตีไฟคือไฟแล้วหล่ะก็ ผิดถนัด ป่าที่แห้งเป็นแค่ปัจจัยที่เอื้อให้ไฟป่าลุกลามใหญ่โต แต่ถ้าไม่มีคนจุด ปริมาณไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละปีก็จะลดลงได้อย่างมาก และพื้นที่ป่าที่เสียหายก็คงไม่กินอาณาบริเวณกว้างหรือมากมายเหมือนในปัจจุบัน
จากข้อมูลสถิติการเกิดไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากน้ำมือของคนแทบทั้งสิ้น โดยสาเหตุหลักคือการหาของป่า ในปี 2565 มีการเผาป่าเพื่อหาของป่า มากถึง 1,450 ครั้ง สร้างความเสียหายมากถึง 23,360 ไร่ นี่ยังไม่นับการล่าสัตว์ เผาไร่ และอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ การเลี้ยงสัตว์ หรือการลักลอบทำไม้ ซึ่งรวมๆ แล้ว ทำให้เกิดไฟป่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมามากถึง 2,371 ครั้ง หรือเฉลี่ยแล้ว ประเทศไทยมีไฟป่า 6.5 ครั้งในแต่ละวัน
คนตีไฟจึงไม่ได้แค่สู้กับไฟในป่า แต่กับไฟในมือคนด้วย
และนี่คือเรื่องจริงของคนตีไฟ