เอสซีจี ผนึกโรงพยาบาลสระบุรี สร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์แบบห้องแยก 10 เตียง รองรับผู้ป่วยวิกฤต อนาคตเตรียมใช้เป็นอาคารไอซียูถาวร เพื่อรองรับผู้ป่วยทางเดินหายใจอื่นๆ ต่อไป
นายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และนายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี เป็นตัวแทนรับมอบนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ แบบห้องแยก จำนวน 10 เตียง จากนายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ โดยใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 15 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลสระบุรีผ่านภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป 10 ล้านบาท และเอสซีจีร่วมสนับสนุน 5 ล้านบาท
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การขาดแคลนห้องไอซียูโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชน และโรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่มีการแพร่กระจายของโควิดอย่างรวดเร็ว จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลสระบุรี สร้างห้องไอซียูโมดูลาร์ ที่มีความพิเศษเฉพาะต่างจากไอซียูโมดูลาร์ที่เคยผลิต เนื่องจากเป็นห้องไอซียูแบบห้องแยก ภายในอาคารประกอบด้วยห้อง 10 ห้อง ที่มีระบบการจัดการอากาศแยกจากกัน ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยวิกฤตด้วยโรคอื่นๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย
เอสซีจี ใช้เวลาในการผลิตในโรงงานเพียง 1 สัปดาห์ และที่หน้างานอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งนับว่ารวดเร็วที่สุดในประเทศไทย และตอบโจทย์ของโรงพยาบาลที่ต้องการไอซียูแบบมีห้องแยก เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งานได้ทันท่วงที โดยเอสซีจีให้การสนับสนุนโครงการนี้ 5 ล้านบาท จากงบประมาณรวม 15 ล้านบาท
นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลสระบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่สระบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้ประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดที่คาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้นจากการติดเชื้อภายในครอบครัว และในชุมชน ขณะที่ ปัจจุบันโรงพยาบาลมีเตียงไอซียูสำหรับผู้ป่วยวิกฤตขั้นสีแดงเพียง 5 เตียง เท่านั้น (AIIR) ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมกับเอสซีจี สร้างห้องไอซียู โมดูลาร์ แบบแยกห้อง พร้อมเครื่องมือแพทย์ที่ครบครัน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจได้มากขึ้นถึง 10 เตียง และในอนาคตจะถูกใช้เป็นอาคารไอซียูถาวร เพื่อรองรับผู้ป่วยทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยอีสุกอีใสที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือผู้ป่วยโควิดก็สามารถแยกห้องในการรักษาภายใต้อาคารเดียวกันได้