สจล. เผยแนวคิด “แก้มลิงในซอย” สูตรสำเร็จแก้น้ำท่วมของ กทม. พร้อม 3 กับดักวงจรซ้ำซากที่คนกรุงต้องเผชิญทุกครั้งที่ฝนตกหนัก
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า “โมเดลแก้มลิงในซอย” คือ สูตรสำเร็จแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ทำได้จริง และประสบผลสำเร็จแล้วในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถนนออร์ชาร์ด สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย
นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าว ยังถูกคิดค้นขึ้น โดยมองจาก 3 ปัญหาหลัก ได้แก่
- กรุงเทพฯ เป็นแอ่งกระทะ ต้องสร้างระบบการระบายน้ำที่สอดรับกับสภาพภูมิประเทศ
จากโครงสร้างกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ ดังนั้น เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ เพราะถนนหลักและท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมี ‘อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ’ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ จึงมีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนนมากเกินไป จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสร้างระบบการระบายน้ำที่รับกับโครงสร้างของกรุงเทพฯ นั่นก็คือการสร้างแก้มลิงกักเก็บน้ำ ทำหน้าที่พักน้ำฝนปริมาณมาก เพื่อรอระบายเมื่อฝนไม่มีตกเพิ่ม
- น้ำที่ต้องเร่งระบาย คือ ‘น้ำย้อน’
เชื่อหรือไม่ว่า ถึงแม้โครงสร้างกรุงเทพฯ จะเป็นแอ่งกระทะ ถนนอยู่ต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ แต่ปัญหาน้ำท่วมขังที่คนกรุงเทพฯ เผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่น้ำที่มาจากน้ำทะเลหนุน หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แต่เป็นน้ำที่เกิดจากปริมาณน้ำฝนบนถนนใหญ่ ไหลลงมาในซอยที่มีระดับต่ำกว่า และถูกสูบกลับออกไปบนถนนใหญ่ จากนั้นก็ไหลย้อนกลับลงมาในซอย เราเรียกน้ำนี้ว่า “น้ำย้อน” หรือน้ำท่วมในซอยที่เป็นวงจรอุบาทว์ เกิดจากโครงสร้างการทำถนนที่ไม่เอื้อต่อการระบายน้ำ ซึ่ง “โมเดลแก้มลิงในซอย” จะสามารถช่วยแก้ปัญหาวงจรอุบาทว์นี้ได้
- คำนึงถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนกรุงน้อยที่สุด
โครงการสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตาม แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนกรุง แต่การสร้าง “แก้มลิงในซอย” ถูกคิดคำนวณมาแล้วว่าสามารถทำได้จริง และส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเมืองน้อยที่ยิ่งกว่าการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินหลายเท่า ด้วยโมเดลที่สามารถรองรับน้ำได้ปริมาณ 800 ลบ.ม. มีขนาดกว้าง 4 ม. ยาว 20 ม. สูง 10 ม. ทำให้บริเวณที่ต้องปิดถนนก่อสร้างในซอย จะกินพื้นที่เพียงครึ่งเลน อีกทั้งใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งนับว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเพียงระยะเวลาอันสั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังได้
นอกจากนี้ มูลค่าการก่อสร้างของแก้มลิงบริเวณซอย มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าความสูญเสียเมื่อเกิดน้ำท่วมขัง 50% ของพื้นที่ ขึ้นในระยะเวลา 45 นาที แต่จะสามารถสร้างความสูญเสียได้ถึง 188,356,164 บาท นับว่าการก่อสร้างแก้มลิงในซอย และใช้งานรองรับการเกิดฝนตกเพียงแค่ครั้งเดียว ก็ถือว่าคุ้มทุนการก่อสร้างแล้ว
สำหรับแนวคิดนวัตกรรม “แก้มลิงใต้ดิน” ใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมกับระบบท่อระบายอื่น ๆ ของกทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน ไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ โดยสามารถนำร่องศึกษาพื้นที่สวนเบญจกิติ บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 100,000 ลบ.ม. นอกจากนี้ยังเสนอโมเดลแก้มลิงในซอย ที่มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำเมื่อฝนตก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมท้ายซอย ซึ่งจะช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที
น้ำท่วม กทม. เป็นปัญหาซับซ้อน ซ้ำซาก การใช้วิธีการเดิม ๆ คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะหากทำได้ ก็คงทำได้ไปนานแล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้หลักวิศวกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาถึงจะสำเร็จ