การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กลายเป็นอีกหนึ่งสนามหรือยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศเจ้าภาพ ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ในแต่ละมิติ ซึ่งมิติที่น่าจับตาที่สุดขณะนี้ก็คือ มิติของความยั่งยืน กับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยรูปแบบต่างๆ
โอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 พี่แกเล่นใหญ่มาก ตั้งแต่ “คบเพลิง” จากอะลูมิเนียมรีไซเคิลในเหตุการณ์สึนามิ “แท่นรับรางวัล” จากขยะพลาสติก 24.5 ตัน “เหรียญรางวัล” จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ “ชุดนักวิ่งคบเพลิง” จากขวด Coca-Cola “หมู่บ้านนักกีฬา” กล่องกระดาษรีไซเคิล และ “สนามกีฬา” จากคอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล เรียกว่าเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้วัสดุรีไซเคิล ทุกเม็ดที่สามารถทำได้


กีฬาโอลิมปิกที่ปารีส ปี 2024 ผู้เข้าชมการแข่งขันจะได้นั่งบนเก้าอี้ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจากถังขยะในท้องถิ่น โครงการที่นั่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กว้างขึ้นเพื่อลดรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อมของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของฝรั่งเศสเลยทีเดียว โดยสนาม Arena ที่ Porte de la Chapelle ในปารีส และศูนย์กีฬาทางน้ำใน Saint-Denis จะทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล ภายใต้แนวคิด Circular Economy จำนวน 11,000 ที่นั่ง ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล
Lemon Tri บริษัทรีไซเคิลในปารีสได้ร่วมมือกับบริษัทก่อสร้างเชิงนิเวศ Le Pavé เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกและเปลี่ยนให้เป็นเศษพลาสติก จากนั้นจึงผสมขี้กบเหล่านี้เพื่อให้ได้สีที่สม่ำเสมอ อุ่นและบีบอัดในเครื่องจักร ผลที่ได้คือชุดแผ่นพลาสติกสีขาวหรือสีดำที่มีจุดสี

จากนั้นแผ่นเหล่านี้จะถูกทำให้เรียบ ขัดเงา และส่งไปยังบริษัทพันธมิตรอื่นๆ ในฝรั่งเศสเพื่อตัดและประกอบ ทำให้เกิดที่นั่งโอลิมปิก การผลิตเต็มกำลังและที่นั่งจะได้รับการติดตั้งในฤดูใบไม้ร่วงนี้
โครงการรีไซเคิลพลาสติกโอลิมปิกใช้วิธีการในท้องถิ่น 80% ของพลาสติกรีไซเคิล 100 ตัน ที่จำเป็นสำหรับทำเบาะนั่งมาจากถังขยะสีเหลืองที่ตั้งอยู่ในเมืองแซน-แซงต์-เดอนี

Augustin Jaclin ผู้ร่วมก่อตั้ง Lemon Tri กล่าวว่า “มันถูกเก็บรวบรวมใน Seine-Saint-Denis หั่นเป็นฝอยใน Seine-Saint-Denis แปรรูปใน Seine-Saint-Denis ทั้งหมดสำหรับสระว่ายน้ำที่ยังคงอยู่ในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บขยะพลาสติกในโรงเรียนเมืองแถบนี้ จนได้ฝาขวดโซดาสีแล้วประมาณ 5 ล้านฝา ซึ่งถือเป็นความคิดริเริ่มในการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับคนในท้องถิ่นมากขึ้น
“มันเป็นเครื่องมือสื่อสารขนาดใหญ่” ออกัสตินกล่าว “เมื่อเราบอกเด็ก ๆ ให้เอาขวดของคุณใส่ถังขยะ พรุ่งนี้พวกเขาจะไปอยู่ในที่นั่งของสระว่ายน้ำโอลิมปิก เป็นการปลุกจิตสำนึกการรีไซเคิลขยะให้กับเด็กๆ”
แอนน์ อีดัลโก นายกเทศมนตรีแห่งกรุงปารีส กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ มีนโยบายสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการจัดการกับวิกฤตมลพิษพลาสติกทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ ยังได้รายงานเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ว่า ปารีสเกมส์ หรือโอลิมปิก 2024 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่กรุงปารีส “แอนน์ อีดัลโก” นายกเทศมนตรีของเมืองปารีส กล่าวในงานการประชุม International Forum of Mayors against Plastic Pollution ว่า เพื่อจัดการวิกฤตมลพิษพลาสติกทั่วโลก ได้สั่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยผู้เข้าชมจะสามารถดูการแข่งขันได้ก็ต่อเมื่อไม่พกขวดพลาสติกติดมา
ขณะที่ โคคา-โคล่า (Coca-Cola) บริษัทเครื่องดื่มอัดลมยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ เตรียมแผนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบขวดแก้วที่ใช้ซ้ำได้ ส่วนรูปแบบถ้วยที่ใช้ซ้ำ จะถูกนำมาใช้เพื่อดื่มระหว่างการแข่งขันวิ่งมาราธอนเท่านั้น

ด้านสำนักงานของอีดัลโก ระบุในแถลงการณ์ที่ประกาศการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในโอลิมปิก เป้าหมายของผู้จัด คือ ลดการปล่อยมลพิษลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับโอลิมปิกปีก่อนหน้า คือ ที่ริโอ ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 และลอนดอนเกมส์ ที่เกาะอังกฤษ เมื่อปี 2012 (สงสัยจะเทียบกับโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นไม่ไหว) โดยใช้โครงสร้างที่มีอยู่ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และการชดเชยคาร์บอน
จากความมุ่งมั่นของผู้จัดโอลิมปิก 2023 เชื่อว่า ต้องมีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับโลกสีเขียวเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน เพื่อโลกที่ยั่งยืนของมวลหมู่ประชากรโลกของเรา
เครดิตภาพ : ©Tokyo 2020