ไทยยูเนี่ยน ชูกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ขับเคลื่อนองค์กรติดอันดับดัชนีดาวโจนส์ 10 ปีต่อเนื่อง ขึ้นแท่นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงแห่งทศวรรษ
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2023 เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน โดยได้รับครั้งแรกในปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ที่เป็นหัวใจสำคัญ สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่ออุตสาหกรรม
“การได้รับการยอมรับและได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องถึง 10 ปี เป็นการยืนยันถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำเท่านั้น แต่หมายถึงการเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณที่ดี ซึ่งกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 คือหัวใจสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่ออุตสาหกรรม”
ไทยยูเนี่ยนใช้ DJSI เป็นเกณฑ์มาตรฐานประกอบการปรับปรุงพัฒนาและเพื่อท้าทายตัวเอง มาตรฐานการประเมินอันเข้มงวดของ DJSI เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวัดผลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทด้านความยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความเป็นเลิศ โดยเฉพาะในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และความมุ่งมั่นที่ลงมือทำอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น การที่ไทยยูเนี่ยนได้ริเริ่มการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเล หรือที่เรียกว่า Blue Finance ขึ้น
SeaChange® หรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน เปิดตัวในปี 2559 และปรับปรุงใหม่ในปี 2566 ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายใหม่จนถึงปี 2573 โดยถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ซึ่งปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนไว้ในทุกแง่มุมของการดำเนินงาน พร้อทั้งกำหนดเป้าหมายอันมุ่งมั่นของเราผ่านเป้าหมายทั้ง 11 ประการที่เชื่อมโยงถึงกัน
อดัม เบรนแนน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มั่นใจวในกลยุทธ์ SeaChange® 2030 ที่จะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่ออุตสาหกรรม เป้าหมายของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ประกอบด้วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 การฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ
นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยน้ำเสียสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ไทยยูเนี่ยนจะปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศรวมถึง การทำประมงอย่างรับผิดชอบ โดย 100% ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะต้องผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม
ในแต่ละปี S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) จะทำการประเมินการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทกว่า 10,000 แห่งทั่วโลก โดย CSA ช่วยให้บริษัทต่างๆ เช่น ไทยยูเนี่ยนสามารถวัดผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคมที่หลากหลาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักลงทุนที่เน้นเรื่องความยั่งยืน