ไทยเบฟ เผย PASSION 2030 ต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่ม อัดงบเพิ่มอีก 2,000 ล้าน หนุนการเติบโตยั่งยืน ลงทุนโรงงาน Bio Gas ราชบุรี จากเดิมมี 7 โรง พร้อมติดโซล่าเซลเฟส 4 ปรับปรุงโรงงาน เสริมความแข็งแกร่งผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร วางเป้า 5 ปี สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน Enabling Sustainable Growth
ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่ม”) กล่าวว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน ไทยเบฟสามารถบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย ทำให้มีผลการดำเนินงานยังเติบโต บริษัทฯ จึงดำเนินการต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยใช้ 2 กลยุทธ์หลักๆ ได้แก่ Reach Competitively และ Digital Forgrowth ที่ตั้งเป้าภายในปี 2030 ไทยเบฟต้องมีความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้าน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดสากล
Reach Competitively คือ การส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่างๆได้อย่างทั่วถึง ส่วน Digital Forgrowth คือ ความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation)เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตการดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจาก นี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า
ในปี 2568 ไทยเบฟได้วางงบลงทุนเพิ่มเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท สูงจากปกติที่ลงทุนต่อปีราว 7-8 พันล้านบาท เนื่องจากจะมีการลงทุนในโครงการ Agri Valley Farm ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ และยังมีการลงทุนขยายโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชาต่อเนื่อง
- อัดงบ2,000ล้านเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ งบการลงทุนทั้งหมด ไทยเบฟได้ปันงบส่วนหนึ่งราว 2,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโรงงาน Bio Gas ที่ราชบุรีในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ไทยเบฟมีโรงงาน Bio Gas รวม 8 แห่ง รวมทั้งการติดตั้งโซล่าเซลล์ที่โรงงานในเฟส 4 และการปรับปรุงโรงงานต่างๆ ด้วย การลงทุนดังกล่าว ถือเป็นแนวทางหนึ่งของการขับเคลื่อนทิศทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
เมื่อพูดถึงความยั่งยืน ใน PASSION 2030 ฐาปน กล่าวว่า ไทยเบฟรับมือความท้าทายด้านความยั่งยืน ด้วยการทำ ESG โดยคำนึงถึง 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล พร้อมทั้งปรับการตีความ ESG จากสิ่งแวดล้อม สังคมและการบริหารจัดการ เป็น สิ่งแวดล้อม คน และการบริหารจัดการ เนื่องจากการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มจากบุคคลแต่ละคนช่วยเหลือกัน กลับกันหากแต่ละคนปล่อยให้คนอื่นหรือระดับองค์กรทำ ภารกิจนั้นไม่สามารถสำเร็จได้ ดังนั้น ไทยเบฟจึงดำเนินงานตามแนวคิด สังคมอยู่ได้ เราก็อยู่ได้
ต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการคณะจัดงาน Sustainability Expo ขยายความถึง ESG ที่ไทยเบฟดำเนินการว่า เรื่องของ E – Environment : สิ่งแวดล้อม ที่ไทยเบฟดำเนินการ มีทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการเรื่องน้ำ และเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง Net Zero สโคป 1 และ 2 มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุในปี 2030 ส่วนสโคป 3 จะต้องดำเนินการให้ลุล่วงภายในปี 2050
ขณะที่เรื่องของความหลากหลาย (Diversity) เรามี Positive Impact ส่วนของ S หรือ Social มีเรื่องของพนักงาน ความผูกพันของพนักงานกับองค์กร 90% หรือสูงกว่านั้น สินค้าที่ดีต่อผู้บริโภค 80% ของยอดขาย และ 75% ของสินค้าที่ขายต้องได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) จากกรมอนามัย เฉพาะสินค้าไม่มีแอลกอฮอล์
ส่วน G – Governance เรื่องของธรรมาภิบาล ก็มีเรื่องของซัพพลายเออร์ 100% ต้องได้ code of conduct ด้านการทำงานร่วมกับเครือข่าย ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวก และเราจะใช้ธรรมาภิบาลมาตรฐานเดียวกันทั้งกลุ่ม
ต้องใจ กล่าวว่า เรื่องหนึ่งที่ไทยเบฟยังให้ความสำคัญน้อยอยู่คือ การบริหารความเสี่ยงที่จะมีผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) เพราะจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คาดว่าจะเพิ่มความถี่มากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล น้ำทะเลหนุน ปัญหาน้ำกร่อย หรือน้ำท่วม ตอนนี้เรามีการประเมินความเสี่ยงของทุกโรงงาน และมีการป้องกัน ดูแล รวมถึงความเสี่ยงจากกฎระเบียบใหม่ๆ ที่เข้ามาจากการค้าขายในต่างประเทศ ซึ่งจะร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ และมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ มาช่วยทำเรื่องข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้พลังงานทดแทน คืนน้ำสู่ธรรมชาติ
หากพูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม โรงงานของไทยเบฟใช้พลังงานทดแทนแล้วราว 37% โดยตั้งเป้าที่จะได้ 50% ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)
เรื่องน้ำ ตอนนี้คืนได้ 5% หรือประมาณ 340 ล้านลิตรของปริมาณที่ใช้ เพราะฉะนั้น ต้องเพิ่มให้ได้อีก 20 เท่า ภายในปี 2040 อันนี้เป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นความท้าทาย ตอนนี้ที่ทำหลักๆ คือ การคืนน้ำที่ต้นน้ำ คือการปลูกป่า การคืนน้ำสู่ชุมชน เช่น การสร้างฝาย สร้างอ่างกักเก็บน้ำ
ส่วนเรื่องของบรรจุภัณฑ์ มี 2 มิติ คือ ส่วนที่เราเก็บกลับ ตอนนี้เก็บกลับแก้ว ซึ่งตอนนี้ไปได้เกือบ 97% และจะเก็บกลับ 100% ภายในปี 2025 กระดาษได้เกิน 100% ส่วนยังต้องเพิ่มคือ กระป๋องอลูมิเนียม และขวดพลาสติกตั้งเป้าเก็บกลับ 100% ภายในปี 2030 ตอนนี้ขวด PET ได้ประมาณ 30%
สำหรับการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ตอนนี้ตั้งเป้าใช้ rPET ให้ได้ 30% ของพลาสติกที่ใช้โดยรวมภายในปี 2030 เช่นกัน ปีนี้ได้ร่วมกับ Envicco ของกลุ่ม GC เป็นครั้งแรกที่ออก est โคล่า ขวด rPET ขนาด 515 มล. เพิ่มเทสต์ตลาดดูก่อน การที่ยังไม่ใช่ rPET กับน้ำเปล่า เนื่องจากตอนนี้ขวดยังมีปัญหาเรื่องสีขุ่นนิดหน่อย เลยเริ่มที่ est ก่อน และ est กำลังมีแคมเปญ “เอส เกิดมาซ่า… กล้าเป็นตัวเอง” คุยกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
ส่วนการที่จะขยายไปยังเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ยังต้องพิจารณาที่ความเหมาะสม ความคุ้มทุน เนื่องจากขวด rPET ยังแพงกว่าขวดปกติประมาณ 20-30% ต้องเลือกใช้กับสินค้าที่มีมาร์จิ้นเหมาะสม หรือทางสามารถพาร์ทเนอร์กับพันธมิตรที่รีไซคลิ้งได้ แล้วเก็บกลับให้เขา ทำให้ลดต้นทุนของ rPET ลง อันนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เพราะในเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กาารที่ต้นทุนเพิ่ม 20-30% ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมาร์จิ้นไม่ได้สูง
ส่วนเรื่องของชวดน้ำสีเขียวของน้ำดื่มช้าง บริษัทฯ มีการรับซื้อด้วยราคาที่สูงกว่าขวด PET ใส คือราคาประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ขวด PET ทั่วไปอยู่ที่ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม และขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเป็นขวดใส เพราะสีเขียวถือเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของน้ำดื่มช้าง สิ่งที่ทำเพิ่มเติม คือ การทำให้เป็นขวดแก้ว มากกว่าขวด PET แม้จะมีน้ำหนักมากกว่า ทำให้ขนส่งได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ขวดเขียวสามารถรีไซเคิลได้ โดยการนำไปทำเส้นใยและอื่นๆ แต่ทำขวดใสไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากไทยเบฟ ร่วมธุรกิจกับเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) แล้ว ตอนนี้มีการรีวิวแผนใหม่หมด เพราะเขามีฟาร์มวัว เป็นอุตสาหกรรมเกษตร ต้องมาศึกษาด้วยว่าเป้าหมายด้านความยั่งยืนของการเกษตรมีอะไรบ้าง
ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (“IBIL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (“TCCAL”) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (“FPL”) ทั้งหมด 28.78% ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) 41.30% ให้แก่ IBIL
ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็น 69.61% โดยกลุ่มจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ซึ่งจะเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ภายในปี 2583 โดยไทยเบฟได้พัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินโครงการในประเทศไทยหลากหลายโครงการ ซึ่งในปี 2566 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้
- บรรลุระยะที่ 1-3 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมโรงงาน 40 แห่งของกลุ่มในประเทศไทย เมียนมา และเวียดนาม รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 42.48 เมกะวัตต์
- ขยายโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระยะที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยจะติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารและแผงแบบลอยน้ำที่โรงงานเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
- สร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ถึงปีละ 1.5 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
- นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์กรแทนแหล่งพลังงานเดิมได้ 37% (ไม่รวมเวียดนาม)
ลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก - ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ 8.7% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 (ไม่รวมเวียดนาม)
- นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวน 61.6% กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ไม่รวมเวียดนาม)
เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วได้ 97% ของจำนวนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล - มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เพิ่มขึ้นเป็น 73%
- ในปี 2566 ไทยเบฟได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุด “Top 1% S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) Score” ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ และสังคม และได้คะแนนเป็นอันดับสองในหมวดสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดัชนีระดับโลกอย่างกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (“DJSI”) โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World Index) เป็นปีที่ 7 และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมโครงการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบการประเมินของ Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งไทยเบฟได้รับคะแนนระดับ A- ในด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) จากการประเมินในปี 2566 กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับพันธกิจของไทยเบฟที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ไทยเบฟประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา
- ความเคลื่อนไหวกลุ่มธุรกิจไทยเบฟ
เริ่มจากธุรกิจสุรา ประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม กล่าวว่า ไทยเบฟเสริมสร้างตราสินค้าหลักในไทยอย่าง รวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการดำเนินกิจกรรมของตราสินค้าต่าง ๆ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเสริมสถานะความเป็นผู้นำของไทยเบฟให้มั่นคงยิ่งขึ้นทั้งในตลาดสุราขาวและสุราสี
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของไทยเบฟคือ การทำให้สุราพรีเมียมของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยการมุ่งเน้นนำเสนอสุราที่มีคุณภาพระดับสากลผ่านตราสินค้าหลักอย่าง แสงโสม แม่โขง พระยา รัม และรวงข้าว สยาม แซฟไฟร์ และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นดังกล่าว ไทยเบฟได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สุราระดับพรีเมียมผ่านการเปิดตัว PRAKAAN (ปราการ) ผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งจะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มตราสินค้าหลักในการขับเคลื่อนสุราระดับพรีเมียมของไทยสู่เวทีระดับโลก
“เราภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้บุกเบิกในการทำให้ประเทศไทย ไปอยู่บนแผนที่ของตลาดวิสกี้โลก โดย PRAKAAN (ปราการ) มาพร้อมกับแนวคิด ‘Irresistible Quest, Unforgettable Taste’ และมีแผนเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบเครื่องดื่มวิสกี้ประเภท New World ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น” ประภากรกล่าว
สำหรับตลาดต่างประเทศ ไทยเบฟเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่หลากหลาย ทั้งวิสกี้จากสกอตแลนด์ คอนญักจากฝรั่งเศส วิสกี้จากนิวซีแลนด์ ซิงเกิล มอลต์ วิสกี้และรัมระดับพรีเมียมจากไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์ ส่วนในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งและยังครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในประเทศไว้ได้แม้จะมีความท้าทายในตลาดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจสุรายังยึดมั่นดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ การนำผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นแอลกอฮอล์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และการล้างขวดแก้วใหม่โดยใช้เครื่องล้างแบบหมุน ซึ่งช่วยให้กลุ่มสามารถประหยัดน้ำในการทำความสะอาดขวดได้
ด้าน ธุรกิจเบียร์ ไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีปริมาณขายที่เติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ในส่วนของธุรกิจในเวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายจากการบริโภคที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ อย่างไรก็ดี การเสริมแกร่งของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา นับเป็นโอกาสดีที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจเบียร์ของเรา
กัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้น จึงเล็งเห็นโอสาสและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ
ไมเคิล กล่าวว่า ยังคงเห็นโอกาสในการเติบโตและมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในตลาดหลักของไทยเบฟ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังระมัดระวังถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยคาดว่าธุรกิจเบียร์ของเราจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
ส่วนธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า ยังคงมุ่งเน้นการผลักดันตราสินค้าหลักอย่างเบียร์ช้าง สู่การเป็นอันดับหนึ่งในตลาดประเทศไทย โดยกำหนดกลยุทธ์สำคัญ 6 ประการ ประกอบด้วย เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ (Strengthen Leadership) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่บนชั้นวางสินค้าในร้านค้าอย่างยั่งยืน เพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และสร้างความตื่นเต้นผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางที่หลากหลายยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Portfolio Premiumization) ผ่านการพัฒนาตราสินค้าแมสพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งช้างโคลด์บรูว์ เฟเดอร์บรอย และช้าง อันพาสเจอไรซ์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการขาย พัฒนาแผนการตลาด และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่
พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational Excellence) จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกในกระบวนการจัดซื้อ การผลิต และห่วงโซ่คุณค่า ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Technological Transformation) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกด้านของการดำเนินงานและกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและดียิ่งขึ้น
การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล (People Investment) โดยมุ่งเน้นสามสิ่งสำคัญ ได้แก่ การสร้างโอกาสให้แก่พนักงานมากยิ่งขึ้น การพัฒนาทักษะใหม่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability) โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งยังยึดมั่นในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม เลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซาเบโก้ กล่าวว่า Bia Saigon ยังคงเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับหนึ่งในเวียดนาม โดยยังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำ ผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองสำคัญต่าง ๆ ผ่านการทำงานร่วมกันอย่างอย่างใกล้ชิดภายในของทีมการค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อมองถึงการฟื้นตัวของตลาดโดยรวมในอนาคต ได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค โดยมุ่งมั่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการค้า (Commercial Excellence) ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Efficiency) รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG)
สำหรับความเป็นเลิศด้านการค้า (Commercial Excellence) ซาเบโก้ มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่ครอบคลุมของบริษัทในการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ส่งเสริมความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในเดือนสิงหาคม 2567 ซาเบโก้เปิดตัวเบียร์ 333 Pilsner ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มตราสินค้าเบียร์ 333 โดย 333 Pilsner มีความโดดเด่นจากเบียร์ชนิดอื่นด้วยรสชาติที่เบาและนุ่มนวล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้บริโภคเบียร์รุ่นใหม่ในเวียดนาม
ด้านประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Efficiency) ซาเบโก้ได้ปรับปรุงระบบคลังสินค้าและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายคลังสินค้าและลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้สามารถจัดหาเบียร์ในปริมาณที่เพียงพอสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังยกระดับระบบการจัดการดำเนินงานเพื่อสร้างความเสถียรภาพ เพิ่มผลผลิต การตรวจสอบ และความถูกต้องของการดำเนินงาน
ส่วนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซาเบโก้นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็ยังตอบแทนชุมชนผ่านหลากหลายโครงการเพื่อสังคม พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการและกระบวนการทำงานภายในกลุ่มเพื่อให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า จะเน้นการนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
ไทยเบฟได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญ เพื่อรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น เรามั่นใจว่าไทยเบฟจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ตราสินค้าและการเข้าถึง(Brand & Reach) ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (Production & Supply Chain Excellence) และความยั่งยืน (Sustainability) เริ่มใช้ขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) 100% ในบางผลิตภัณฑ์ของตราสินค้าเอสโคล่า
ด้าน ธุรกิจอาหาร โสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า สามารถเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงแบรนด์อาหารของกลุ่ม และเพิ่มจำนวนคนนั่งทานในร้านผ่านการขยายสาขาใหม่ด้วยรูปแบบร้านที่ต่างกันไปในทำเลยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และการผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มไทยเบฟ ทำให้เราสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงได้บางส่วน
ส่วนกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล โสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า ไทยเบฟมุ่งมั่นเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน และก้าวสู่การเป็นผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความพึงพอใจในสายอาชีพและโอกาสก้าวหน้าของพนักงานจะเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานร่วมงานกับองค์กรได้ในระยะยาว และตระหนักดีว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือกับพนักงาน ดังนั้น เราจึงเปิดพื้นที่ให้พนักงานพัฒนาตนเองได้อย่างเท่าเทียมและไร้ขีดจำกัด เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การเรียนรู้และการเติบโต พร้อมทั้งมอบโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ ตลอดจนปิดช่องว่างด้านทักษะต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับองค์กร
มีการทำงานร่วมกับแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์และการดำเนินงาน และเพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจและตลาด/ประเทศต่าง ๆ เราจึงให้ความสำคัญกับการสรรหาและพัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงการสนับสนุนโอกาสให้บุคลากรสามารถทำงานข้ามประเทศและกลุ่มธุรกิจ โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับไทยเบฟในอนาคต
ส่วนผลประกอบการ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 กลุ่มไทยเบฟมีรายได้รวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจเบียร์ที่สร้างรายได้ 93,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% EBITDA เติบโต 10.2% ด้วยต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ลดลง แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9%
ส่วนรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ตามปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น5.3% มี EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% ด้วยประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง ด้านธุรกิจสุรา มีรายได้ 92,788 ล้านบาท ลดลง -0.9% EBITDA ลดลง -1.3% จากปริมาณขายรวมลดลง -2.7% ธุรกิจอาหารรายได้ 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% มี EBITDA 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น