ไทยประกาศความพร้อม ร่วมประชุม COP 27 ระหว่างวันที่ 3-18 พฤศจิกายน 65 ที่อียิปต์ ชูจุดยืน การยกระดับแผนลดโลกร้อน ร่วมมือประชาคมโลกควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก ไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 รับทราบกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-18 พฤศจิกายน 2565 ที่ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์ ซึ่งถือเป็นการจัดประชุมประจำปี เพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก
กรอบท่าทีเจรจาของไทยเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาล
ประเทศไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) และความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประชาคมโลกจะต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) ได้จัดทำและปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Long Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy, LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution, NDC) เพื่อยกระดับเป้าหมายของไทย ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง ซึ่งยังมีสาระสำคัญคงเดิม แต่แก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น
- เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) (เร็วขึ้น 5 ปี)
- เป็นกลางทางคาร์บอน เดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) (เร็วขึ้น 15 ปี)
- ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) (เร็วขึ้น 35 ปี)
รวมทั้งการระบุประเด็นที่ไทยต้องการรับการสนับสนุนให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยไม่มี และความช่วยเหลือในเรื่องการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
2. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) ยังคงมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับ NDC ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่มีการแก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง โดยมีการแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลง ร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ส่วนประเด็นการดำเนินงานของไทย มีการเพิ่มเติมรายงานข้อมูล การปล่อย/การดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ และเพิ่มเติมผลสำเร็จเรื่องอื่น
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกรอบท่าทีของไทยในการประชุม COP27 โดยหลักการการเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม คำนึงถึงขีดความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละภาคี การพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน การไม่เลือกปฏิบัติ และเน้นย้ำว่าประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
องค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุม COP 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับความท้าทายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนในโลก และทุกประเทศต้องร่วมมือกัน
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในโลกที่เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมของทุกประเทศโดยไม่แบ่งแยกฐานะ ระดับการพัฒนาจะทำให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในโลกดีขึ้น ซึ่งถือเป็นความภูมิใจและความสำเร็จร่วมกัน”