รู้หรือไม่!? ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คุณอาจมีภาวะเสี่ยงทางทันตกรรมที่ไม่ควรมองข้ามนั่นคือ “โรคปริทันต์” บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่า เหตุใดคุณจึงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน และเราจะมีวิธีดูแลช่องปากอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อนนี้
- โรคปริทันต์คืออะไร?
โรคปริทันต์ คือ อาการอักเสบของอวัยวะรอบฟันทั้งหมด ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟัน โดยภาวะนี้มีจุดเริ่มต้นจากคราบจุลินทรีย์ ที่มีกลุ่มเชื้อแบคทีเรียเป็นองค์ประกอบ กลุ่มเชื้อโรคนี้สะสมและกระจายอยู่ในช่องปากโดยเฉพาะบริเวณซอกฟันใกล้ขอบเหงือก ซึ่งส่งผลให้เหงือกมีอาการอักเสบ บวมแดง เลือดออกตามไรฟัน และเมื่อการอักเสบลุกลามมากขึ้นจนอวัยวะรอบฟันสูญเสียการยึดติด ทำให้ฟันคลอนเหมือนใกล้หลุดออก มีกลิ่นปาก ปวดบวม และอาจมีหนองไหลออกจากร่องเหงือก
- โรคปริทันต์อักเสบ VS โรคเบาหวาน เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (กลูโคส) นั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบได้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อันเนื่องมาจากความบกพร่องของการหลั่งอินซูลิน ช่องปากของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ได้จะมีสภาวะที่เอื้อให้แบคทีเรียสามารถเติบโตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์มากขึ้น และไวต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ในทางกลับกัน การติดเชื้อจากโรคปริทันต์ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ยากขึ้น
ผู้ป่วยเบาหวาน ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลโรคปริทันต์อักเสบ
- ทำความสะอาดช่องปากโดยการแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทุกเช้าและก่อนนอน
- ใช้ไหมขัดฟัน หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน เพื่อทำความสะอาดซอกฟันทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- รักษาระดับกลูโคสในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า โรคเบาหวานกับโรคปริทันต์ มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างระดับน้ำตาลในเลือดสูงและความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบ ดังนั้นการรักษาสุขภาพช่องปาก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคเบาหวานของคุณและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ นอกจากเหนือจากการทำความสะอาดช่องปากที่ถูกต้องแล้วผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ