21 หน่วยงานจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา บูรณาการความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด ตั้งเป้าลดไม่น้อยกว่า 3 แสนตันCO2 ภายในปี 2565
ภายใต้แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังกับ 5 กระทรวง และ 16 หน่วยงานจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา แสดงเจตจำนงขับเคลื่อนร่วมกัน ภายใต้แนวคิด “Together for our World” รวมพลังเพื่อโลกของเรา
พร้อมร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด” โดยมุ่งหวังบรรลุลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า300,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ. 2565 ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มการใช้งานปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ได้มาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อย CO2
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้มีการจัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030) เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป้าหมายและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใน 3 สาขา ได้แก่ 1. สาขาพลังงานและคมนาคมขนส่ง 2. สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และ 3. สาขาการจัดการของเสีย
ในส่วนแผนงานการลดก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ หนึ่งในมาตรการหลักที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม คือ มาตรการทดแทนปูนเม็ด ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นแนวทางการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนให้มีการใช้งานผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นได้ถึง 850,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ประกอบด้วย มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ รวม 450,000 ตัน และการใช้วัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ในคอนกรีตผสมเสร็จ รวม100,000 ตัน
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก (Extreme Risk) ลำดับที่ 12 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของประเทศและบรรจุประเด็นดังกล่าวไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งขาติ และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ค. 2558 – 2593 ซึ่งเป็นกรอบระยะยาวในการกำหนดทิศทางดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักภายใต้แผนปฏิบัติการของสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับปูนซีเมนต์ที่มีสัดส่วนปริมาณปูนเม็ดที่ต่ำลง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่นำปูนซีเมนต์ชนิดดังกล่าวไปเป็นส่วนประกอบการผลิต ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ซีเมนต์ไฮดรอลิก (มอก.2594-2556) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จฉบับใหม่ (มอก.213-2560)
ขณะที่ นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นเรื่องการดำเนินการเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมแต่เป็นเรื่องของทุกคน/ ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการ สำหรับ ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ นั้น ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน ที่จะร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมให้มีการใช้งาน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา รวมกันดำเนินการในด้านต่างๆ จะเป็นสิ่งที่จะทำให้สามารถลดการปล่อย CO2ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2565 ตามเป้าหมาย
ภาครัฐ:
-ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการผลิตให้ความสำคัญตลอดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
-จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
-ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในบัญชีจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
-ส่งเสริมการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม
-จัดทำระบบรายงาน และการทวนสอบข้อมูลการลด CO2 (Monitoring, Reporting, Verification: MRV)
ภาคอุตสาหกรรม:
-การนำเทคโนโลยี/ นวัตกรรมมาปรับใช้กระบวนการผลิต ด้วยการส่งเสริมการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลด
การปล่อย CO2 เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และผลิตภัณฑ์คอนกรีตประเภทต่างๆ
ภาควิชาชีพ:
-เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การใช้งาน และประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาคการศึกษา:
-ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัย พัฒนา