foodpanda ร่วมกับ WWF ร่วมรักผิดชอบสังคม ลดขยะพลาสติก เปิดแนวคิด ทำให้ทุกวันเป็น Earth Day พร้อมแนะ 6 ขั้นตอน จัดการขยะพลาสติกจาก Food Delivery ก่อนรีไซเคิล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Foodpanda ร่วมมือกับ WWF (World Wide Fund for Nature) รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ที่ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีส่วนร่วมในการ “บริหารจัดการขยะพลาสติก” โดยเฉพาะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่เกิดขึ้นจากการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นในยุคปัจจุบัน ผ่าน 6 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการจัดการขยะพลาสติกก่อนนำไปรีไซเคิล เพื่อลดปริมาณขยะที่หลุดออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดหรือฝังกลบ และยังช่วยลดงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปกับการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมหาศาลในปัจจุบัน
ปัจจุบันขยะพลาสติกในประเทศไทยมีปริมาณสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนนิยมสั่งอาหารและเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่กันเพิ่มมากขึ้น ทำให้พลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มีจำนวนมากตามไปด้วย โดยในแต่ละออเดอร์จะมีขยะพลาสติกมากขึ้นจำนวน 5-10 ชิ้น ส่งผลให้ขยะพลาสติกโดยรวมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกเมือง
แน่นอนว่า foodpanda ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมาโดยตลอด และไม่เคยเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมี foodpanda มีบทบาทในการร่วมผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในขอบเขตที่สามารถทำได้ เช่น ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก นำร่องมอบกล่องอาหารรักษ์โลกให้กับร้านค้าพันธมิตรของ foodpanda เพื่อรณรงค์การใช้งานบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ foodpanda ยังเป็นแอปพลิเคชันแรกในประเทศไทย ที่มีฟังก์ชันให้ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติก และนอกจากเรื่องพลาสติกแล้ว foodpanda ยังได้ร่วมมือกับ WWF ประกาศจุดยืนไม่จำหน่ายเมนู “หูฉลาม” บนแอปฯ foodpanda อีกด้วย
เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และร่วมแก้ไขปัญหาพลาสติก การมีส่วนร่วมกันของทุกคน ทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทุก ๆ คนสามารถร่วมกันรักษาโลกใบนี้ให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อคนรุ่นต่อไป foodpanda ขอชวนทุกคนมาเริ่มต้นทำทุกวันให้เป็นวัน Earth Day ด้วย 6 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการจัดการขยะพลาสติก ก่อนที่จะถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ดังนี้
1. ล้างกล่อง – หลาย ๆ คนอยากยังไม่ทราบว่ากล่องพลาสติกที่ยังมีคราบอาหาร จะกลายเป็น “ขยะกำพร้า” ที่ไม่สามารถเอาไปรีไซเคิลได้ ดังนั้นเราต้องทำความสะอาดกล่องหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ปราศจากเศษอาหาร เพื่อให้ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการรีไซเคิลง่ายขึ้น
2. ลอกสติกเกอร์ออกจากกล่อง – กล่องอาหารส่วนมาก มักมากับฉลากบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น สติ๊กเกอร์ติดกล่องหรือเทปกาว ดังนั้นนอกจากล้างแล้วก็ควรแกะสิ่งเหล่านี้ ก่อนแยกขยะด้วย
3. แยกประเภทพลาสติก – ขยะพลาสติกมีหลายประเภท เช่น ถุงหูหิ้ว บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ฟิล์มห่ออาหาร แก้วแข็ง หลอด กล่องบรรจุอาหาร ฝาขวดน้ำ เป็นต้น เราควรคัดแยกเพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่เก็บขยะ และทำให้การจัดการในกระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. บีบหรือพับให้แบน – บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างกล่องอาหารหรือขวดน้ำพลาสติก สามารถบีบหรือพับให้เล็กลงได้เพื่อประหยัดพื้นที่ในการทิ้งถังขยะ รวมถึงช่วยประหยัดพื้นที่ให้รถขยะ ให้สามารถขนขยะได้มากขึ้น
5. ทิ้งขยะให้ถูกถัง – ปัจจุบันถังขยะจะมีการจำแนกประเภทของขยะมากขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคมีหน้าที่ในการทิ้งขยะที่ถูกประเภท และให้แน่ใจว่าขยะที่ทิ้งนั้นไม่ปะปนรวมกัน
6. ส่งต่อเทคนิคนี้ให้เพื่อนและครอบครัว – บอกต่อวิธีการจัดการขยะแบบนี้ให้กับเพื่อนฝูงญาติมิตรให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะในบ้านเรา และทำให้ทุกคนตระหนักถึงประโยชน์ของการจัดการขยะพลาสติกก่อนรีไซเคิล นอกจากนี้ก็สามารถช่วยแก้ไขความเชื่อผิด ๆ บางอย่างได้ เช่น ข่าวลือที่ว่าเทศบาลเก็บขยะเราไปแล้วไปเทรวมกันอยู่ดี ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องแยกขยะให้เสียเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะปัจจุบันมีการคัดแยกขยะเป็นหมวดหมู่เพื่อนำไปรีไซเคิล ไม่มีการเทรวมอย่างที่เข้าใจ
นอกจาก 6 ขั้นตอนง่าย ๆ นี้ ก่อนที่จะใช้พลาสติก ขอให้ทุกคนหยุดคิดก่อนว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหน หากไม่จำเป็นเราก็สามารถ “ปฏิเสธเมื่อไม่ต้องการ” ได้ เช่น กดเลือกฟังก์ชันไม่รับช้อนส้อมพลาสติก หรือแจ้งร้านหากไม่ต้องการรับหลอด หรือเครื่องปรุงซอง ในช่วงแรกร้านอาจยังคุ้นชิน และให้ทุกอย่างมาในออเดอร์เพื่อคงความพึงพอใจของลูกค้า
แต่หากลูกค้าเน้นย้ำและส่งเสียงไปยังร้านเป็นประจำ ร้านจะปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการรับพลาสติกเหล่านี้ วิธีการนี้นอกจากลดพลาสติกแล้ว ยังช่วยลดขยะอาหารได้อีกด้วย แม้เราจะไม่สามารถเลิกใช้พลาสติกได้ 100% แต่เราสามารถลดปริมาณขยะที่จะไปสู่หลุมฝังกลบได้
เมื่อจัดการขยะและแยกอย่างถูกต้องแล้ว ก็ต้องรู้แหล่งรับบริจาคขยะที่เหมาะสมด้วย WWF ได้แชร์โครงการที่รับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ อาทิ
● “โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน” เปิดรับพลาสติกยืด พลาสติกแข็ง เช่นถุง กล่องใส่อาหาร ฝาขวด ขวดพลาสติก รวมถึงฟิล์ม เพื่อนำไปรีไซเคิลกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง
● โครงการวน (Won) เปิดรับบริจาคพลาสติกหลายรูปแบบ และมีจุดรับของโครงการอยู่หลายจุด อย่าง “ถังวนถุง” ที่เราอาจจะเคยเห็นกันที่ห้างสรรพสินค้าหรือปั๊มน้ำมัน โดยนอกจากจะรับพลาสติกไปรีไซเคิลแล้ว พลาสติกทุก 1 กิโลกรัม จะถูกคิดเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ”
● โครงการ Trash Lucky – อีกโครงการอันน่าสนใจที่ “ขยะสามารถเปลี่ยนเป็นทอง” ได้ มีเป้าหมายเพื่อลดการทิ้งขยะลงสู่หลุมฝังกลบและทะเล ซึ่งเราสามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย ๆ เพียงแค่ “แยก แลก ลุ้น” แยกขยะประเภท ขวดพลาสติก กระป๋อง กล่องกระดาษ ฯลฯ ส่งไปที่โครงการ Trash Lucky เก็บสะสมแต้มที่แลกได้จากขยะประเภทต่าง ๆ รับสิทธิลุ้นรับรางวัลใหญ่มูลค่ารวม 10,000 บาททุก ๆ เดือน โดยรางวัลใหญ่เป็นทองคำหนัก 1 สลึง รวมไปถึง บัตรกำนัลเงินสด เรียกว่านอกจากช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้ลุ้นโชคไปด้วยทุกเดือนอีก
● WASTE BUY Delivery รถสะดวกซื้อขยะถึงบ้าน ที่ช่วยให้เราส่งขยะที่เราแยกแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยสามารถเรียกรถได้ง่าย ๆ ผ่าน Application ที่มีทั้งบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS นอกจากจะมีราคารับซื้อที่โปร่งใสแล้ว เรายังได้รู้ด้วยว่าการแยกขยะทิ้งแต่ละครั้งของเราลดคาร์บอนไปเท่าไหร่ คิดแล้วเท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น นอกจากนี้ยังได้สะสมแต้มแลกรางวัลได้อีกมากมายด้วย
หากต้องการให้ขยะพลาสติกถูกรีไซเคิลไปเป็นสินค้าที่น่าสนใจรูปแบบต่าง ๆ ก็มีหลายโครงการ อาทิ
● โครงการ GREEN ROAD นำพลาสติกที่รับบริจาคนำไปรีไซเคิลเป็นบล็อกปูถนน โดย 1 ตารางเมตรต้องใช้ถุงจำนวนมากถึง 4,000 ถุง
● ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะชุมชนบ้านไผ่ รับบริจาคหลอดใช้แล้วนำไปใช้ผลิตเป็นไส้ของ “หมอนหลอด” ที่จะใช้สำหรับผู้ป่วยแผลกดทับ
● Wishulada รับบริจาคฝาขวดน้ำพลาสติก ฝาขวดน้ำอัดลม ห่วงกระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องน้ำอัดลม เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รวมถึงเปลี่ยนเป็นถังขยะชุมชนได้อีกด้วย