บ้านปู เทงบปีละ 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต่อยอดธุรกิจ New S-Curve

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:7 Minute, 29 Second

บ้านปู เผยก้าวใหม่ธุรกิจ อัดงบกว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี ให้หน่วยงานใหม่ “Corporate Venture Capital” ขยายการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เสริมสร้างความแข็งแกร่งระบบนิเวศกลุ่มบ้านปู  

สมฤดี ชัยมงคล Chief Executive Officer บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บ้านปูได้เปิดหน่วยงานใหม่ชื่อ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ขึ้นเมื่อปี 2565 เพื่อการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปูให้แข็งแกร่ง โดยมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ภายใต้งบการลงทุนปีละ 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อค้นหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาเสริมประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้กับกลุ่มบ้านปู ซึ่งมองว่าเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน

กลุ่มบ้านปูได้เตรียมงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ เพื่อใช้ลงทุนในเทคโนโลยี และขยายการลงทุนในธุรกิจ พลังงานสะอาด เช่น โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เพื่อทำให้โปรดักส์และบริการของบ้านปู ซื้อได้ หาง่าย ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีโปรเจคที่น่าสนใจอยู่กว่า 3 หมื่นโปรเจค

กลุ่มบ้านปูได้จัดเสวนา “ส่องกระบวนยุทธธุรกิจกลุ่มบ้านปู สู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านภายในปี 2568” เมื่อ 22 กันยายน 2566 เพื่อเปิดเผยการดำเนินงานที่โดดเด่นและแนวทางในอนาคตของ 4 ธุรกิจเรือธง “ธุรกิจเหมือง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า” รวมถึงหน่วยงาน Corporate Venture Capital ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ที่กำลังขับเคลื่อนบ้านปูในกระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Banpu Transformation) เพื่อสร้างสรรค์พลังงานที่ยั่งยืนและโซลูชันพลังงานสะอาด ที่จะสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คน 

บ้านปูเข้าสู่ “การเปลี่ยนผ่านธุรกิจ” ทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากร มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่การเริ่มเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนการลงทุนและกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปูที่แข็งแกร่ง สามารถผสานพลังร่วมเพื่อถ่ายทอด ต่อยอด แบ่งปันองค์ความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรระหว่างกัน  

นับจากนี้ สู่เป้าหมายในปี 2568 เราจะเห็นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน ในขณะเดียวกัน บ้านปูยังคงนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนได้มากขึ้น

4 ธุรกิจเรือธง และ 1 หน่วยงาน กับเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต  

ธุรกิจเหมือง ปัจจุบันไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และการพัฒนาการดำเนินงานในสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด  

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยุทธศาสตร์ โดยปัจจุบันบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ ด้วยกำลังผลิตประมาณ 890 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน (MMcfepd) เป้าหมายในอนาคตคือการขยายพอร์ตธุรกิจทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ คู่ขนานไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ 

โครงการ Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่) โครงการ Cotton Cove (คอตตอน โคฟ) และโครงการ “High West (ไฮเวสต์)” รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี ค.ศ. 2025 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในทศวรรษ 2030   

ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ล่าสุด เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส เป็นการสร้างคุณค่าจากการผสานพลัง (Synergistic Value) กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม เสริมความแกร่งให้กับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจของบ้านปูในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยวางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 

ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ โดยวางเป้าหมายปี 2568 ดังนี้ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & ESS Solutions) ตั้งเป้ากำลังผลิต  4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) จำนวน 60 โครงการ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี 

และธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ  

ในปี 2565 บ้านปูได้จัดตั้ง หน่วยงาน Corporate Venture Capital เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู  หน่วยงานนี้จะเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาได้ลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุน Warburg Pincus ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) ในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดในต่างประเทศ กองทุน Heyokha Makha ที่จะส่งเสริมการทำโครงการเหมืองแร่แห่งอนาคต และกองทุน Smart City ของ Eurazeo ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพ AirCarbon Exchange (ACX) แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในระดับโลก 

“ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนของผู้บริหารและพนักงานบ้านปู ในทั้ง 9 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม) ที่ทำงานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้วัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) นอกจากนี้ ยังมี หลัก ESG ที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทำให้บ้านปูสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จากนี้ไป เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้ส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต” สมฤดี กล่าว

การเสวนาครั้งนี้มีผู้บริหารที่เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นางสมฤดี ชัยมงคล Chief Executive Officer  นายฐิติ เมฆวิชัย Head of Oil and Gas Business  นายจามร จ่าเมือง Senior Vice President – Mine Engineering and Development  นายกิรณ ลิมปพยอม Head of Power Business  นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ Head of Renewable and Energy Technology Business  และนายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of Corporate Venture Capital  

นอกจากนี้ บ้านปูยังได้จัดการเสวนา “เสริมทัพขับเคลื่อนบ้านปู เพื่อส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” เพื่อเผยวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานสำคัญ (Key Enabler Units) ที่สนับสนุนให้บ้านปูประสบความสำเร็จตลอดเส้นทางธุรกิจที่ผ่านมา และจะมุ่งขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรต่อไป โดยหน่วยงานดังกล่าวจะดูแลงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนการสร้างแบรนด์และสื่อสารองค์กร  

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ช่อง 3 ส่งมอบถุงมือยางเกรดพรีเมี่ยม สนง.เขตคลองเตย

ช่อง 3 ส่งมอบถุงมือยางเกรดพรีเมี่ยม เพื่อสุขอนามัยที่ดี ให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตคลองเตย

You May Like