“ศุภชัย เจียรวนนท์” แนะ “สื่อ” มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยการปรับตัวจาก Gatekeeper มาเป็น Facilitator เลิกเสนอข่าวดราม่า ใช้ความรุนแรง มาสู่การสร้างจิตสำนึกส่วนรวม ตรวจสอบการทำงานองค์กร สู่เป้าหมายความยั่งยืน
จากเวทีเสวนา TSCN CEO Panel : ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ในงาน Sustainability Expo 2023(SX2023) ที่กลุ่มไทยเบฟจัดขึ้น โดยมี 3 ซีอีโอใหญ่ ได้แก่ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี, ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้ความรู้
ตอนหนึ่งของการเสวนา ศุภชัย ได้กล่าวถึง เป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ที่รัฐบาลตั้งเป้าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (carbon emissions) ลงให้ได้ 300-400 คาร์บอนตันต่อปี จะทำได้อย่างไร และจะไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 ได้อย่างไร ตรงนั้นต้องมียุทธวิธี แล้วสื่อสารออกมาสู่พับลิค รัฐบาลมีหน้าที่ออกนโยบายมากมายหลายอย่าง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมาย โดยมีข้อมูลการดำเนินงานที่สามารถติดตามได้ เรื่องนี้สำคัญ เพราะมิเช่นนั้น ก็ขับเคลื่อนไม่สำเร็จ และตรงนี้เอง ที่ควรเป็นหน้าที่ของ “สื่อ”
“รัฐบาลกลัวสถาบันสื่อมากที่สุด เพราะสื่อแค่สะกิด หลายเรื่องก็หยุดแล้ว เพราะมันมีเรื่องของ public conscience จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ถ้าเรารวมภาคสื่อเข้ามาด้วย แล้วสื่อมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน เรื่องที่ควรซัพพอร์ต ซัพพอร์ตไหม สื่อเป็นปัจจัยสำคัญ เราต้องเอาสื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วย เพื่อติดตามตรวจสอบ”
สื่อในที่นี้ ไม่ใช่แค่ข่าวหรือหนังสือพิมพ์ แต่หมายรวมถึงการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ภาพยนตร์ และอื่นๆ สื่อเหล่านี้ สามารถสร้างให้เกิด public conscience ได้ สร้างองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนได้ เพราะทุกคนบริโภคสื่อ ถ้าสื่อยังอยู่ในยุค 2.0 เสนอแต่เรื่อง ดราม่า ใช้ความรุนแรง แบบนั้นคงไม่ได้
อย่างในละคร พระเอกนางเอกทำเรื่องความยั่งยืน มันจะหล่อหลอมทำให้เกิด public conscience ในขณะที่ส่วนของภาคเอกชนที่ทำธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะมาบีบ ถ้าคุณไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม ฉันก็ไม่ซื้อของๆ คุณ
ปัจจัยใหญ่ คือ ความชัดเจนของภาครัฐ ความชัดเจนของการติดตามอย่างสร้างสรรค์ และสื่อต้องเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน หากสื่อสามารถเปบี่ยนจากแค่ Gatekeeper มาเป็น Facilitatorได้ ก็จะได้ส่งต่อพลังบวกให้กับส่วนต่างๆ ทำให้เกิดเรื่องดีๆ ขึ้นได้
ศุภชัย ยกตัวอย่าง ประเทศแอสโตเนีย ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน แต่เขามีรายได้มากกว่าไทย 4 เท่า มีพวกสตาร์ทอัพที่มีความสามารถระดับยูนิคอร์น หรือมากกว่ายูนิคอร์นเกิดจากประเทศนี้…เขาทำได้อย่างไร ทรัพยากรเขาก็ไม่มี…เขาเป็นประเทศแรกที่เริ่มเรื่อง ดิจิทัลไอดี มี E-Governance เขาเริ่มจากระบบการศึกษา คือ เรียนโปรแกรมมิ่งกันตั้งแต่เด็กๆ บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียน
“ผมเชื่อว่า ถ้าภาครัฐ เอาจริง ในเรื่องของการวางเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น เรื่องความโปร่งใส ที่พูดถึงเป้าหมาย และหนึ่งในเป้าหมายของภาครัฐคือความยั่งยืน หากรัฐมีเป้าหมายชัดเจน จะสามารถขับเคลื่อนได้” ศุภชัยกล่าว