ต้องบอกเลยว่ากระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงแซงระบบ 5G ของจริง เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนใครต่อใครก็ใช้แต่ของอีโค่เต็มไปหมด จนก่อให้เกิดแฟชั่น ในรูปแบบ Sustainable Fashion หรือการสร้างสรรค์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งไม่ว่าจะแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกันอย่างถ้วนหน้า แถมยังทำให้เกิดความฮอตฮิตติดเทรนด์ กลายเป็นกระแสด้านบวกไปทั่วโลก
‘ปริยากร ธรรมพุทธสิริ’ กรรมการผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา หรือคุณติ๊ก เล่าว่า 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ผลิตจากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีและสิ่งปรุงแต่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริโภคคำนึงถึงเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลกในอนาคต ทำให้ธุรกิจสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายผู้ประกอบการช่างคิด ก็ไม่ให้เสียโอกาส หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา จึงสร้างสรรค์ ไอเดีย “การผลิตเส้นใยเสื้อผ้า” จากเศษใบมี่เหลือทิ้งของ “สับปะรด” มาสร้างเป็นเส้นใย
ใยสับปะรดเป็น หนึ่งในเส้นใยที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ และการพัฒนาของ ‘รักษ์บ้านเรา’ ครั้งนี้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สร้างให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค และยังสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้ แถมยังสามารถแข่งขันได้กับเส้นใยลินิน ที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกาได้อีกด้วย
“เส้นใยผ้าจากสับปะรดถือเป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติดีมาก มีความแข็งแรงทนทานอันดับต้นๆของโลก ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย – เชื้อรา และดูดซึมสีได้เป็นอย่างดี”
สำหรับการนำสับปะรดมาถักทอเป็นเส้นใยเสื้อผ้านั้น จะใช้พันธุ์สับปะรดปัตตาเวีย ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยนำเศษเหลือทิ้งในส่วนของใบ ที่มีมากมายหลายพันกิโลกรัมต่อไร่ ผู้ปลูกจะนำมารีดให้เป็นเส้นใย เป็นการแปรรูปของเสียที่ไม่ได้ใช้งาน มาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างตลาดใหม่ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากเส้นใยอื่นๆ
อีกทั้งยังแตกเป็นสินค้าได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า ชุดสำเร็จรูป สร้างมูลค่าได้ในตลาดผู้ที่ชื่นชอบสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ เนื่องจากมีการนำเส้นใยดังกล่าวให้คนในเรือนจำได้ทำเป็นกิจกรรมและฝึกวิชาชีพ
เดิม การผลิตเส้นด้ายและการทอผ้า ยังใช้แรงงานคนในการผลิตเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้า คุณสมบัติของเส้นใยที่ได้มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บางชนิด ที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ‘รักษ์บ้านเรา’ จึงร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พัฒนาเครื่องต่อเกลียวเส้นใยสับปะรดอัตโนมัติ ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 60% และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติ ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 70% ทำให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และทำให้มีเวลามาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีเส้นใยสับปะรดเป็นส่วนประกอบหลักได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ “หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา” พัฒนา จำหน่าย และส่งออกมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ 1.เส้นใยต่อเกลียว ที่มีราคาขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท 2.ผ้าทอ ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ หลาละ 950 บาท และ 3. เส้นใยที่เสีย ต่อเส้นใยยาวไม่ได้ จะถูกส่งต่อไปทำวอลล์เปเปอร์ หรือกระดาษสาขายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท
ตลาดส่งออกสำคัญจะอยู่ที่ตลาดยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้ชื่นชอบทั้งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงทนทาน การออกแบบสินค้าประเภทต่างๆที่ไม่ฉูดฉาด เน้นความเรียบง่าย แต่สวมใส่แล้วดูดี รวมทั้งความเป็นธรรมชาติทั้งตัวเส้นใย และสีย้อม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ช่วยผลักดันให้สินค้ามีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำหรือเหมือนใคร และยังทำให้ ขายได้ในราคาที่สูงอีกด้วย