“วิทัย” ประกาศเดินหน้าพันธกิจเพื่อสังคม จาก Social Bank สู่ Social Mission Integration ปักธงสร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการแก้ปัญหาตอบโจทย์สังคม ปี 2567 คาดได้ใบอนุญาตเปิด Non Bank หวังแก้ปัญหาคนจน หนี้นอกระบบ ยกระดับความเท่าเทียม สร้างสังคมและธุรกิจยั่งยืน
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวบนเวทีสัมมนา GSB Forum 2023 หัวข้อ ESG : Social Pillar Driven “สังคมยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” ถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของะนาคารออมสิน ที่ประกาศตัวเองเป็น Social Bank หรือ ธนาคารเพื่อสังคม และขยับเพิ่มภารกิจสู่ Social Mission Integration ในปี 2565 และกำลังเดินหน้าพัฒนางานด้านสังคมจาก Corporate Social Responsibility (CSR) ไปสู่ Creating Shared Value (CSV) ที่เป็นการผนึกงานด้านธุรกิจเข้ากับการแก้ปัญหาสังคม ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG : Environment-Social-Governance ที่ธนาคารมุ่งเน้นแกนหลักด้านสังคม (Social)
“ผมมีความเชื่อว่าปัญหาทางโครงสร้างของประเทศ คือ ปัญหาเรื่องความยากจน และปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราเลยอยากจะเอาประเด็นนี้ขึ้นมา นอกจากเรื่อง ESG ที่เราทำเรื่อง Net Zero แล้ว ก็อยากให้พวกเราทำเรื่องสังคม ทำเรื่องการช่วยเหลือคนจน ช่วยกันบรรเทาปัญหาความยากจน บรรเทาความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่เป็นปัญหาใกล้ตัว”
จากมุมธุรกิจที่สร้างสรรค์สังคมผ่านกิจกรรม CSR ที่เป็นเหมือนต้นทุนที่ลงไปเปฦ็นครั้งคราวแล้วหายไป แม้จะมีความต่อเนื่องระยะสั้นๆ บ้าง หากแต่ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว ออมสินจึงเปลี่ยนมุมมองการทำ CSR สู่คอนเซ็ปท์การช่วยเหลือสังคม ที่เรียกว่า CSV : Creating Shared Value เป็นการนำปัญหาเชิงสังคม ใส่เข้าไปในธุรกิจ ในด้านหนึ่ง คือการทำธุรกิจปกติ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีกำไรพอสมควร หลังจากนั้น ก็นำกำไรจากฝั่งธุรกิจ ไปทำอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นธุรกิจที่เป็นภารกิจเชิงสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของสังคม ทำให้เกิดเป็น 2 ภารกิจ ที่เรียกว่า Duao Mission
วิทัย ใช้วิธีการ Lean องค์กร ลดต้นทุนจาก 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เหลือ 3.2 หมื่นล้านต่อปี ในขณะที่ภาพรวมธุรกิจใหญ่ขึ้น กำไรมากขึ้น แล้วนำกำไรที่ได้ไปทำโปรเจคที่ซัพพอร์ตสังคม
คนฐานรากเป็นคนประมาณ 80% ของประเทศมีปัญหาด้านความยากจน แถมเจอโควิดซ้ำเติมอีก รายได้ตก แต่รายจ่ายไม่ได้ตกตาม นำสู่ปัญหาหนี้นอกระบบ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วยอดต่อครัวเรือนที่เป็นหนี้อยู่ที่ 44% ผ่านมา 3-4 ปี ยอดเพิ่มขึ้นมาเป็น 50-60% ในจำนวนนั้น 7-8% กู้หนี้นอกระบบ และมีจำนวนยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้น 20% คือ จากเดิมที่เคยกู้ประมาณ 1.1 แสนบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.3 แสนบาท แถมยังเจอดอกเบี้ยสูง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้น จากที่ควรจะโดนดอกเบี้ยเพิ่ม 3-4% แต่เขาโดนเพิ่มเป็น 10-20% ดอกเบี้ยที่สูงเกินจริง ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความยากจน และตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ออมสินปัจจุบันทำงาน 4 เรื่องหลัก คือ 1. การดึงคนเข้าสู่ระบบการเงินด้วยสินเชื่อต่างๆ 2. ให้แหล่งการเงินที่เป็นธรรมในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 3. การให้ความรู้ด้านการเงิน และ 4. การสร้างงาน สร้างอาชีพ
วิทัย กล่าวว่า ออมสินเป็นธุริกจการเงินขนาดใหย่ที่มีคุณภาพหนี้ดี จากการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ทำให้มีหนี้ NPL ไม่ถึง 3% ในขณะที่กำไรสูงมาก โดยปี 2566 นี้คาดว่าจะมีกำไรอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท สูงสุดกว่าช่วงก่อนโควิด
ขณะนี้ ออมสินกำลังรอใบอนุญาตเพื่อทำธุรกิจ Non-Bank โดยคาดว่าจะได้ประมาณต้นปีหน้า ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้า ออมสินจะตั้งธนาคารแล้วดึงคนส่วนหนึ่งที่หลุดออกไป เข้าสู่ระบบการเงินที่เป็นธรรมได้เพิ่มขึ้นอีก
วิทัย เน้นย้ำว่า เรื่องของสังคม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้ประเทศชาติเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ โดยการทำ CSV ทำงานด้านสังคมให้เป็นเนื้อเดียวกันกับธุรกิจ แน่นอน ส่วนของ CSR ก็ยังทำ แต่หากสามารถขยาย CSR ให้เป็น CSV ได้ก็จะยิ่งดี
อย่างเช่น โครงการออมสินร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พัฒนาชุมชนในจังหวัดน่าน เริ่มตั้งแต่เข้าไปดูว่าเขาอยากได้อะไร ออมสินช่วยอะไรได้ ทำให้เกิดความยั่งยืน เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดให้เป็นกาแฟ โรงคั่วกาแฟ สร้างอาชีพ แก้ปัญหาเรื่องหนี้ ทำอาหารในชุมชน เอาคอมพิวเตอร์ไปบริจาค ช่วยให้เกิดความยั่งยืน เป็นโครงการต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดได้ หากใครเห็น แล้วมาช่วย มาทำ จะทำให้คนพวกนี้ไม่มีหนี้สิน เกิดความเท่าเทียมในสังคมต่อไป