SROI ย่อมาจาก Social Return on Investment และมันคือ “การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม” ซึ่งก็คือ แนวทางหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้สามารถวัดผลประโยชน์ของโครงการต่าง ๆ ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม พยายามแปลงผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแก่สังคม ให้เป็นมูลค่าที่มีหน่วยวัดเดียวกับเงินตรา ประโยชน์ที่จะได้จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม คือทำให้เกิดความชัดเจนในวิธีการวิเคราะห์คุณค่าของโครงการต่าง ๆ ต่อสังคม และทำให้เห็นประโยชน์ที่ตกแก่สังคม และยังบอกได้ด้วยว่า เงินลงทุนแต่ละบาท สังคมได้ผลตอบแทนเท่าใด
ที่สำคัญ การวิเคราะห์และข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ “ต้องโปร่งใส” ทำให้สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ สุดท้ายเมื่อได้ผลวิเคราะห์ออกมา ยังสามารถใช้เป็นไกด์ไลน์ช่วยในการตัดสินใจงรายละเอียดกับโครงการครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้รู้ว่า เราควรปรับปรุงการทำงานอย่างไร แก้ไขปัญหาอะไรบ้าง มี Pain Point ไหนที่ต้องแก้ไข เพื่อให้สังคมได้รับประโยชน์มากขึ้นและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแบบตรงประเด็นตรงกลุ่ม
กลับมาดูที่มา ที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการทำเรื่อง SROI นั่นคือปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ที่คนไทยเราได้ยินบ่อยๆ คือ ปัญหาโลกร้อน จนทำให้นานาประเทศทั่วโลก ต้องออกมาสร้าง commitment ที่จะช่วยกันลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนหนึ่งของเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่จะทำให้โลกไปถึง Net Zero Emission ได้ ก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ ซึ่งเป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกหลังปี ค.ศ.2015 ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ที่เชื่อมโยง ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เป็น “พิมพ์เขียวเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง เพื่อประชาชนและโลก ณ บัดนี้และต่อไปในอนาคต”
สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ กรรมการและเลขาธิการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย กล่าวว่า ระหว่างทางการเดินไปสู่เป้าหมายโลก ทั้ง SDGs และ Net Zero นี่แหละสำคัญมาก เพราะเมื่อเราตั้งเป้าแล้ว เรามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร ทั้งงบประมาณ การดำเนินงาน การวัดผลจากตัวชี้วัดต่างๆ เพราะ SDGs และ Net Zero ไม่ใช่เรื่องของการอาสาสมัครที่จะทำแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ must do มันกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกคนต้องทำ ซึ่งการวัดผล อย่างเรื่องของ SROI ถือเป็นหนึ่งโมดูลสำคัญของการวัดผล เพื่อเราจะไปสู่เป้าหมายได้
งบประมาณทั่วโลกที่จำเป็นจะต้องใช้จ่ายลงไปเพื่อสร้างอิมแพ็คทางสังคม 12 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ต้องลง แต่ยังขาดอยู่เพื่อไปตอบโจทย์ทางสังคม เพราะฉะนั้นเอกชนต้องมองเรื่องนี้ว่า เงินลงทุนที่เราใส่ไป ทำอย่างไร จึงจำได้ SROI ที่ดี ก่อให้เกิดประโยชน์ และอิมแพคในวงกว้างจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ จากเวลาที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ จากปัจจุบันไปถึง ค.ศ.2030, 2050 หรือ 2065 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)ได้อออกมากระตุ้น ให้บริษัทต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของการทำ SROI แล้ว
- กรอบของการวัด
สกุลทิพย์ กล่าวว่า กรอบของการวัด SROI เป็นการวัดที่ผลของการเปลี่ยนแปลง จากโครงการด้านสังคมหลายๆ โครการ แน่นอนทุกคนมีเป้าหมายที่จะทำให้สังคมดีขึ้น แต่บางครั้งมันก็มีผลลบออกมา โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ นี่จึงเป็นความสำคัญของ SROI ที่จะเข้ามาช่วยประเมิน และเป็นไกด์ไลน์ให้กับการทำโครงการดีๆ เพื่อสังคมต่อไป อย่างถูกต้อง แม่นยำ และเกิดอิมแพ็คที่ดีในระยะยาว
สิ่งที่เราเข้าไปวัด คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เราเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราได้ดีขึ้น ว่าเขาต้องการอะไร ทำให้เราดีไซน์โครงการได้ดีขึ้น และทำให้เราตัดสินใจ (make decision) ได้ดีขึ้น
ในการคิดประเมิน เอาอิมแพ็คที่เกิดขึ้นหลังจากการจัดกิจกรรม มาหารกัน เราก็ไปตีมูลค่าอิมแพ็ค ทั้งที่เป็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้มูลค่าตีออกมาเป็นเม็ดเงิน การประเมินต้องตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งจะเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่ CEO หรือ CFO เข้าใจได้ เช่น ลงทุนไป 100 บาท อย่างน้อยรีเทิร์นที่กลับมาเป็นมูลค่า ควรได้ไม่ต่ำกว่า 100 บาท
การประเมินผล มูลค่าที่เกิดขึ้นมาจากการตีราคาของผู้มีส่วนได้เสีย และต้องมีการตรวจสอบ และต้องมีผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับหน่วยงาน มาช่วยตรวจสอบอีกครั้ง โดยข้อมูลต่างๆ ต้องมีความโปร่งใส เปิดเผย
ส่วนสมาคมผู้ประเมินคุณค่าสังคมไทย (Social Value Thailand Association) เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ประเมินคุณค่าทางสังคม โดยร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน สังคม และการศึกษา เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการประเมินคุณค่าสังคมในประเทศไทย รุกหน้า ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประเมิน เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าทางสังคมสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสมาคมฯ ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนเครือข่ายในประเทศไทยโดย Social Value International ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรชั้นนำทั่วโลก มีสมาชิกเครือข่ายกว่า 700 องค์กรใน 60 ประเทศทั่วโลก
ภารกิจหลักของสมาคมผู้ประเมินคุณค่าสังคมไทย ประกอบด้วย
- SOCIAL VALUE PORTAL พัฒนาเครือข่ายผู้ประเมินตามกรอบมาตรฐานการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Accredited SROl Practitioner Training)
- STANDARDIZATION เผยแพร่ สร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจหลักการส่งเสริม คุณค่าสังคม เข้าถึงองค์ความรู้ กรอบมาตรฐาน แนวปฏิบัติฐานข้อมูลและกรณีศึกษา (Social Value Principle, Methodology and Framework)
- PROFESSIONAL DEVELOPMENT ยกระดับวิชาชีพและความน่าเชื่อถือของผู้ประเมินและกระบวนการประเมินตามกรอบมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากล (SVI Assurance Standards)
- PARTNERSHIP แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศ (Networking & Partnership)
มีต่อ :