เอสแอนด์พี แบรนด์ร้านอาหารที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี ปัจจุบันไม่ใช่แค่มีความโดดเด่นในด้านอาหารและเบเกอรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังโดดเด่นในระดับแถวหน้า กับความเป็นองค์กรยั่งยืน ที่ปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน และการสร้างโปรดักส์ ที่ใส่ใจต่อ ESG อย่างครบถ้วน โดยการนำของ “มณีสุดา ศิลาอ่อน” ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
‘เอ็ม-มณีสุดา ศิลาอ่อน’ เป็นสะใภ้คนสวย ภรรยาของ กำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงินและการผลิต S&P บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP
“คุณเอ็ม” บอกเลยว่า การเดินทางสู่ความยั่งยืนเต็มไปด้วยความยากในการปฏิบัติ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยการมีความมุ่งมั่น จึงเข้ามารับผิดชอบเรื่องความยั่งยืนโดยตรง และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้ที่จะทำเรื่องนี้ จนทำให้ SNP ก้าวขึ้นติดอันดับ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2564 – 2566 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปี 2561 S&P เริ่มวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และกำกับกิจการที่ดี เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และยังได้ก่อตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เพื่อขับเคลื่อนเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) โดยเฉพาะ
“คุณเอ็ม” บอกว่า จริงๆ แล้ว S&P เริ่มต้นทำธุรกิจยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2559 มีทั้งติดตั้งระบบ Solar Roof บนอาคารโรงงาน และยังมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนแพ้คเกจจิ้งที่เป็นพลาสติกในร้านทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ มาเป็นวัสดุรีไซเคิล ซึ่งต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และหากรวมการลงทุนการเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าบอร์ดบริษัทไม่อนุมัติแน่นอน เพราะ หากมาคำนวณ Payback Period ตั้งแต่ต้นมันไม่คุ้ม
“การขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจ จำเป็นต้องใช้เงิน แต่เราสามารถเริ่มก่อนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะถ้าได้ทำก็เท่ากับเริ่มต้น ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ว่าจะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไร”
เมื่อคิดอย่างถี่ถ้วน “คุณเอ็ม” จึงเปลี่ยนมุมมอง เริ่มทำจากสิ่งที่ใช้เงินน้อย ปรับไปทีละนิด เริ่มตั้งแต่ปรับพฤติกรรมคนในองค์กร เรียนรู้และปฏิบัติเรื่องการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงาน จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ทำมาแล้ว 3 รุ่น
“คุณเอ็ม” ลงมือทำทีละเล็กละน้อยมาเรื่อยๆ จนต่อยอดมาถึงการนำเป้า Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมาปรับใช้ 7 ข้อ มาผสมผสานกับกระบวนการทำงาน ได้แก่
- เป้าหมายที่ 2 Zero Hunger: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 3 Good Health and Well-Being: สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
- เป้าหมายที่ 4 Quality Education: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ช่วยกระจายรายได้ผ่านการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากพื้นที่ต่างๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต พร้อมสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่างๆ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และนำมาซึ่งโอกาสในการได้รับการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นในอนาคต
- เป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth: ส่งเสริมการติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
- เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน จากการอยู่ในธุรกิจอาหารที่มุ่งพัฒนาอาหารคุณภาพ และตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ตามคำมั่นสัญญาของบริษัท Healthier Family, Happier World เพื่อให้ผู้บริโภค คู่ค้า พันธมิตรได้มาซึ่งสุขภาพดีและมีความสุข รวมถึงแนวทางจัดการอาหารส่วนเกินร่วมกับพันธมิตรเพื่อส่งมอบให้ชุมชนหรือผู้ที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง
- เป้าหมายที่ 13 Climate Action: ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ การขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบ Climate Change การปรับเปลี่ยนระบบผลิตทั้งสินค้าและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการขนส่งให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้พลังงานทดแทน และวัสดุรักษ์โลก รวมท้ังนโยบายบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน ตั้งแต่การใช้ข้อมูลในการสั่งอย่างแม่นยำเพื่อให้เหลือทิ้งน้อยที่สุดมาตั้งแต่ต้นทาง ส่วนปลายทางก็จะนำไปบริจาคให้ผู้ที่ต้องการเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบ
- เป้าหมายที่ 17 Partnerships for the Goals: ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งคู่ค้า พันธมิตร รวมทั้งผู้บริโภค เช่น การตั้งจุดทิ้งขยะรีไซเคิล เพื่อนำขยะพลาสติกไปแปลงเป็นยูนิฟอร์ม หรือการจัดการขยะอาหารร่วมกัน หรือการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านสังคมต่างๆ เป็นต้น
S&P สร้างศูนย์กระจายสินค้า(Smart Distribution Center) เป็นศูนย์กลางด้านการวางแผนการบริหารคลังสินค้าและการขนส่ง มีระบบบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) และจัดวางเส้นทางได้อย่างเหมาะสม ลดเที่ยวเดินทาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งมีการใช้รถควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพดีแก่ผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมีแผนทดลองใช้รถขนส่งไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (S&P EV Truck) สำหรับกระจายสินค้าไปยังหน้าร้านS&P โดยเริ่มใช้รถบรรทุกไฟฟ้าขนส่งสินค้าในเดือนธันวาคม 2566 เพื่อขนส่งวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ S&P จากคลังสินค้ากระจายไปยังหน้าร้าน S&P สำหรับรถไฟฟ้า 1 คัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาด อีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงด้วย
หลังขับเคลื่อนกลยุทธ์ยั่งยืน ผลกำไร S&P เติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 7 เท่า แม้ว่ายอดขายจะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดได้ รวมทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤต บริษัทยังแบกรับภาระขาดทุนเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งบริษัทมาในรอบ 49 ปี ซึ่งความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้มี ‘บุคลากร’ ในองค์กรเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ได้รวมพลังใจเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกันได้ในที่สุด
การขับเคลื่อนความยั่งยืนของ S&P มีความน่าสนใจ ด้วยรูปแบบ Learning by Doing ซึ่งเป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจ และกรณีศึกษาให้อีกหลายธุรกิจ ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางบริบทใหม่ของโลกธุรกิจ ที่จากนี้จะไม่สามารถโฟกัสแค่เพียงการสร้างกำไรเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
S&P นำความเชี่ยวชาญจากการประกอบธุรกิจอาหาร ส่งต่อความรู้สู่คนในสังคมผ่าน โครงการ “S&P อบรมวิชาชีพ สร้างโอกาสคืนสู่สังคม” ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม และ โครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา นำทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร เบเกอรี่ เครื่องดื่ม จากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจมา กว่า 50 ปี มาถ่ายทอดความรู้ในการประกอบอาชีพ ให้กับผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี ที่ใกล้จะพ้นโทษ ให้มีทักษะด้านการประกอบอาหาร เบเกอรี่ และเครื่องดื่ม แก่ผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ เพื่อสามารถนำไปสร้างอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการ “S&P Kitchen for Kids ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15” ดำเนินการในโรงเรียน 36 แห่ง เพื่อส่งเสริมด้านโภชนาการและสุขอนามัยที่ดีให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการมาอบรมให้ความรู้แก่แม่ครัว นักเรียน และบุคลากรของโรงเรียน เพื่อให้มีความรู้ และสามารถประกอบอาหารให้แก่นักเรียนได้อย่างถูกสุขอนามัย พร้อมมอบอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับประกอบอาหาร รวมถึงส่งเสริมด้านเกษตรกรรมโดยมอบพันธุ์ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สด สะอาด และปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม
ทั้งหมดนี้ เปรียบเสมือนการต่อภาพจิ๊กซอว์แห่งความสำเร็จ ค่อยๆ ทำด้วยความมุ่งมั่นพยายามดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่ง สามารถก้าวข้ามสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นและริเริ่มโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับอย่างแท้จริง
ความยั่งยืนที่ เอส แอนด์ พี ไม่ใช่เพียงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังได้เห็นความสุขในโลกวิถีใหม่ไปพร้อมกัน โดยสะท้อนผ่านคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมจากการบริโภคอาหารที่ดี มีโภชนาการ ซึ่งสุขภาพดีของทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน