‘เซ็นทรัล ทำ’ ลุยไม่หยุด นำความต่างสร้างความโดดเด่นแบรนด์ good goods ผนึกดีไซน์เนอร์ดัง MOO Bangkok พัฒนาป่ามีสี ‘ผ้าครามบ้านกุดจิก’ สกลนคร สู่แฟชั่นโดนใจ เตรียมผลักดันสินค้าพื้นถิ่น โดยเแพาะกลุ่มอาหารไปไกลถึงต่างแดน หลังภาพรวมเติบโตเท่าตัว
คุณเต้ง – พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ผู้สร้างแบรนด์ good goods ภายใต้ เซ็นทรัล ทำ ที่เริ่มต้นจากสินค้าและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาคนไทย จนมาเป็นคาเฟ่ และกำลังขยายต่อยอดอีกมากมาย ผู้บริหารท่านนี้ กล่าวว่า การสร้างแบรนด์ good goods ต้องไม่ใช่แค่การเอาเรื่องประโยชน์ต่อชุมชนมาเป็นที่ตั้ง แต่ต้องใส่เรื่องการสร้างแบรนด์เข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดที่มีความหลากหลาย และด้วยปริมาณคู่แข่งที่มีมากมาย สิ่งที่คุณเต้งพยายามเติมเต็มลงไปในแบรนด์ good goods คือ “ความไม่เหมือนใคร”
ล่าสุด กับการเปิดตัวแฟชั่นเสื้อผ้าคอลเลคชั่นพิเศษ ที่ร่วมกับ MOO Bangkok ในเครืออาซาว่า กรุ๊ป ที่นำผลิตภัณฑ์ผ้าจาก 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าครองวิถี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนางาม มาผสมผสานกับดีไซน์ร่วมสมัยในสไตล์ Urban ready to wear ภายใต้คอนเซ็ปต์ Eternal Sunshine สะท้อนถึงความสดใส รอยยิ้ม และพลังบวกจากความสุขที่เรียบง่ายในชีวิต โดยดึงเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้า สื่อถึงบรรยากาศอบอุ่นที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มให้กัน
คุณหมู – พลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป กล่าวว่า ร่วมมือกับเกลุ่มซ็นทรัลครั้งนี้ ได้นำเอาความชอบส่วนตัวในผ้าครามมาปรับวิธีคิด รวมทั้งการทำวิจัยและพัฒนา เข้ากับวัสดุของชุมชน สร้างสรรค์เป็นคอลเลคชั่นที่แตกต่าง และสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับวัสดุที่โดดเด่นและมีคุณภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกเข้ากับเทคนิคกระบวนการธรรมชาติ ทั้งการย้อมสี การเข็นฝ้ายด้วยมือ และการมัดย้อมเส้นใย นอกจากนี้ ยังมีการนำผ้า zero waste หรือเศษผ้าที่ถูกทอมาใช้เป็นดีเทลในชุดต่างๆ ซึ่งปรากฏในแฟชั่นไอเทมที่สวมใส่ง่าย เช่น เสื้อฮาวาย กางเกงขาสั้น และแจ็กเกต
คุณเต้ง เล่าว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการจับมือกับดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง แต่ทุกครั้งที่ผนึกกำลังกับเหล่าดีไซเนอร์ คือ การพยายามพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากชุมชนให้มีความโดดเด่นแตกต่างและร่วมสมัยโดนใจผู้บริโภค โดยสนนราคาแฟชั่นเสื้อผ้าคอลเลคชั่นนี้ มีตั้งแต่ 300-2,000 บาท เป็นราคาที่จับต้องได้ทุกคนสามารถเข้าถึง และสินค้าในแบรนด์ good goods ยังมีความหลากหลายและโดดเด่นในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแฟชั่น ที่มีทั้งเสื้อผ้า แอคเซสเซอรี่ กลุ่มอาหาร ขนม กาแฟ และกลุ่มเครื่องหอม ซึ่งอนาคตอันใกล้ จะขยายไปสู่กลุ่มจิวเวอรี่
“เราเน้นการสร้างแบรนด์ ควบคู่กับการช่วยเหลือชุมชน เพราะเราต้องการสู้กับแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด และวางเป้าไปสู่โกลบอลแบรนด์ในอนาคต 3-5 ปี โดยสินค้าที่น่าจะไปก่อน คือ กาแฟ ของกิน น้ำผลไม้ ซึ่งต่างชากติ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน มีความชื่นชอบ”
ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่ good goods พยายามผลักดันต่อเนื่องคือของกินอย่างขนมที่ทำงานมันม่วง ที่คาดว่าจะได้ลิ้นลองกันเร็วๆ นี้ นอกเหนือจากสินค้าอื่นๆ ส่วนสินค้าแฟชั่นอย่างเสื้อผ้า อาจจะไปได้ช้าหน่อย เนื่องจากต้องคำนึงถึงการผลิตที่คนเอเชีย คนยุโรป หรือชาติอื่นๆ มีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกัน
การชูความต่างผมผสานกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค้าสินค้า ทำให้ช่วงที่ผ่านมา สินค้าของ good goods เติบโตดีมาก จากยอดขาย 200 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็น 400 ล้านบาท ในขณะที่สินค้ามีปริมาณไม่มาก แต่การนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย และพื้นถิ่นไทย เข้ากับการดีไซน์และพัฒนาให้ร่วมสมัย ทำให้สินค้าแบรนด์ good goods เป็นยอมรับของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีสัดส่วนถึง 70%
สำหรับคอลเลคชั่นพิเศษ กับความร่วมมือ MOO Bangkok คุณเต้ง อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของชุมชนบ้านกุดจิก ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามทอมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ป่าชุมชน ทำให้ เซ็นทรัล ทำ ได้เห็นถึงความตั้งใจดีและศักยภาพที่เข้มแข็งของชุมชน จึงผนึกกำลังกับสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.สกลนคร เริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามของชุมชนบ้านกุดจิกให้โดดเด่นเป็นที่รู้จัก โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงาน เพื่อหาจุดเด่นและเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ โดย เซ็นทรัล ทำ ได้ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาคุณภาพ การแปรรูปเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการขายและการตลาด พร้อมเปิดโอกาสเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่าล้านบาทในปี 2566
เพื่อเป็นการยกระดับชุมชนบ้านกุดจิกให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น เซ็นทรัล ทำ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ในการพัฒนาผ้าย้อมครามและการย้อมสีธรรมชาติให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้และการท่องเที่ยวชุมชน โดยโครงการเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ดังนี้:
• โครงการ ป่าให้สี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผืนป่า สู่ผืนผ้า” คือ แนวคิดในการปรับปรุงป่าชุมชนให้เป็นพื้นที่รวมพันธุ์ไม้ให้สีย้อมผ้าของชุมชน บนพื้นที่ 18 ไร่ โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลพันธุ์ไม้ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เก็บไว้เป็นฐานข้อมูล และเก็บตัวอย่างใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ นำมาทดสอบการให้สีธรรมชาติ เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไปในอนาคต โดยพันธุ์ไม้ที่พบในป่ามีไม้ยืนต้นหลากหลายพันธุ์มากกว่า 318 ต้น ได้แก่ กระบก, มะพอก, มะขาม, ยางเหียง, หว้า, ยางพลวง, ราชพฤกษ์, ปีบ, มะค่าแต้, ตะคร้อ, เหมือดแอ, มะม่วงกะสอ, ข่อย, แดง, ประดู่แดง, หมี่, เพกา, จิก, มะตูม, สะเดา, ราชพฤกษ์, มะหวด, ตะแบกนา, หนามแท่ง, เสลา, กว้าว, พลับพลา, นมน้อย, มะหาด, มะกอก, ส้มเสียว, ส้มกบ, ส้มชิ้น, มะเกลือ, ยอป่า และโมกหลวง เป็นต้น ซึ่งการศึกษาข้อมูลพันธุ์ไม้นี้ นอกจากชุมชนจะได้รู้จักพันธุ์ไม้ของตัวเองแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงการอนุรักษ์ป่าชุมชนและการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบของชุมชนอีกด้วย
• การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นการคัดเลือกพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าให้สีนำมาทดสอบการให้สีย้อมผ้า ผ่านกระบวนการกรรมวิธีที่แตกต่างกัน เพื่อให้สีย้อมผ้ามีเฉดสีที่หลากหลายและมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งจากการทดสอบนำสีย้อมผ้าจากพันธุ์ไม้ในป่าให้สี ได้ 8 เฉดสี อาทิ เพกา ให้สีเหลือง, มะหาด ให้สีชมพู, ฝาง ให้สีแดง, ไผ่กิมซุง ให้สีเขียว, ยอปา ให้สีส้ม, คราม ให้สีน้ำเงิน, สัก ให้สีม่วง และโคลงเคลงป่า ให้สีน้ำตาล โดยการนำใบ เปลือก หรือราก มาทำเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งแต่ละครั้งอาจให้สีไม่สม่ำเสมอ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการควบคุมคุณภาพและสีสันของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถผลิตผ้าย้อมครามที่มีสีเสถียรสม่ำเสมอได้ในจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้โปรเจ็คพิเศษระหว่าง good goods x Moo Bangkok เกิดขึ้นได้จริง
• การท่องเที่ยวชุมชน เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อรองรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวที่มาเรียนรู้การทอผ้าย้อมครามหรือท่องเที่ยวในชุมชน ได้แก่ การจัดอาหารพื้นถิ่นสำรับภูไทบ้านกุดจิก ขนมและเครื่องดื่มจากข้าวฮาง การต้อนรับดูแลนักท่องเที่ยว กิจกรรม workshop ย้อมผ้าสีธรรมชาติจากป่าให้สี การจัดแพ็กเกจและแผนที่เส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการขยะในชุมชนด้วย