SCGD เผยความสำเร็จธุรกิจยั่งยืน ลดต้นทุนด้วยพลังงานทดแทน พัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่ม พร้อมนำเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ปี 68 ยึดแนวทางเดิม เสริมด้วยการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน เพิ่มรายได้โต 2 เท่า
นำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCG Decor (SCGD) กล่าวว่า SCGD ปี 2567 เติบโตสวนกระแสตลาดอาเซียนชะลอตัว กำไร 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147% จากแนวทางการดำเนินธุรกิจยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับคีย์หลัก 3 ส่วน ได้แก่
- พัฒนาและผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง (High Value Added : HVA) ต่อเนื่อง ปรับไลน์การผลิตกระเบื้องเกรซพอร์ซเลนขนาดใหญ่ในเวียดนามและไทย รวมทั้งสิ้น 14 ล้านตารางเมตร ล่าสุด ได้ปรับไลน์การผลิตกระเบื้องเกรซพอร์ซเลนขนาดใหญ่เพิ่มอีก 5 ล้านตารางเมตร ณ เมือง Pho Yen เวียดนาม คาดแล้วเสร็จกลางปี 2568
- ลงทุนพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนกว่า 280 ล้านบาทต่อปี โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลถึง 20% และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 10% ตั้งเป้าปี 2573 เพิ่มการใช้งานพลังงานชีวมวล 46% และพลังงานโซลาร์เซลล์ 15%
- ใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ปี 2568 เร่งตอบความต้องการตลาด อาทิ ตรวจสอบคุณภาพของแผ่นกระเบื้องในกระบวนการผลิต ใช้แขนกลหุ่นยนต์ในการผลิตสุขภัณฑ์ ระบบขนย้ายสินค้าและบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
SCGD ให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว ธุรกิจสุขภัณฑ์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Complementary Business) โดยเล็งเห็นถึงโอกาสการขยายส่งออก ในตลาดที่มีความต้องการหลากหลาย และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มช่องทางจำหน่ายในอาเซียนผ่านการเปิดร้านค้า 15 ร้าน ได้แก่ ไทยเปิด COTTO LiFE สาขาดอนเมือง และคลังเซรามิก 8 สาขา ฟิลิปปินส์เปิดร้าน CTM จำนวน 4 สาขา กัมพูชาเปิดร้าน OK Tile center และเวียดนามเปิดร้านค้า V Ceramic
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าสุขภัณฑ์กว่า 170 รายในอาเซียน ส่งผลให้ยอดขายสุขภัณฑ์ในต่างประเทศ เพิ่มประมาณ 500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน รวมทั้งปรับพอร์ตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ปูนกาว ยาแนวสำหรับการติดตั้งกระเบื้อง ชุดครัว และประตูหน้าต่าง รวมถึงกระเบื้องสำหรับเคาท์เตอร์ท๊อปให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด ทำให้มียอดขาย 416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า
ปี 2568 SCGD ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 5% และ EBITDA จะเพิ่มขึ้นกว่า 5% จากสถานการณ์ตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิว กระเบื้องเซรามิก และสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีสัญญาณการเริ่มทะยอยฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งในและต่างประเทศ SCGD ตั้งงบลงทุนอีก 4,000 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยการขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า HVA รองรับการเติบโตในอนาคต พร้อมเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายครอบคลุมทั่วอาเซียน โดยตั้งเป้าเติบโต 2 เท่า รวมทั้งยังเดินหน้าลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานทดแทนเข้ามาเสริมต่อเนื่อง
ส่วนปี 2567 SCGD มีรายได้ 25,563 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน โดยมี EBITDA 3,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน มีกำไร 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147% จากปีก่อน ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เป็นค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และค่าเสียหายจากน้ำท่วมโรงงานในประเทศฟิลิปปินส์ รวมประมาณ 100 ล้านบาท
ไตรมาส 4 ของปี 2567 มีรายได้ 5,978 ล้านบาท ลดลง 12% โดยมี EBITDA 604 ล้านบาท ลดลง 24% และมีกำไร 80 ล้านบาท ลดลง 45% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากไตรมาสนี้ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวตามที่ได้กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ บริษัทสามารถลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10% มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท จากการควบคุมสินค้าคงคลัง และบริหารจัดการลูกหนี้ทางการค้า
ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 39,823 ล้านบาท อัตราส่วน EBITDA ต่อหนี้สินสุทธิ (Net Debt to EBITDA) มีสัดส่วน 1.4 เท่า กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจําปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท โดยได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เมื่อในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท โดยกำหนดวันที่ XD (หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล) ในวันที่ 31 มีนาคม 2568 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เมษายน 2568
การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง ESG ทำให้ปีที่ผ่านมา SCGD ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ A กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Propcon) และ “ดัชนี SETESG” ประจำปี 2567 สะท้อนการเติบโตอย่างยั่งยืน และการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ลงทุน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง คว้าผลประเมิน CGR ระดับ 5 หรือ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างจากการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2567