ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาเกี่ยวกับพลาสติกได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายหรือย่อยสลายยาก น้ำมันที่นำมาใช้ผลิตพลาสติกเป็นทรัพยากรธรรมชาติมีโอกาสหมดไป
ภาวะโรคร้อนซึ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติไปทั่วโลก รวมทั้งขยะพลาสติกปนเปื้อนในทะเล ซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ญี่ปุ่นเป็นยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมพลาสติกของเอเชียและของโลก และเป็นประเทศที่มีปริมาณพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (disposable plastic) ต่อคนเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา หลังจากประเทศจีนได้ประกาศงดการนำเข้าของเสียพลาสติกจากต่างประเทศในปี 2560 ขณะที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาพนิเวศน์ทางท้องทะเลที่เกิดจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งลงทะเล ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องการควบคุมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมากขึ้น หลายประเทศเริ่มงดการนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่น ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นจึงพยายามอย่างจริงจังในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา มาตรการหนึ่งคือการนำพลาสติกชีวภาพ
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว รายงานว่า ในปี 2562 ญี่ปุ่นได้ออกกลยุทธ์สำหรับการหมุนเวียนของทรัพยากรสำหรับผลิตพลาสติก หรือที่ Resource Circulation Strategy for Plastics โดยดำเนินการคัดแยกและการรีไซเคิลขยะ ตามหลักคิด 3R (Reduce, Reuse และ Recycle) ที่มีการตั้งเป้าหมายดำเนินการด้านต่างๆ พร้อมกำหนดปีที่จะต้องทำให้สำเร็จ เช่น การลดปริมาณขยะพลาสติกลง 25% ภายในปี 2573 หรือนำขยะพลาสติกมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี 2578 เป็นต้น พร้อมเพิ่มการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วสามารถทดแทนได้ (Renewable Resource) ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าเองก็ถูกบังคับใช้ข้อห้ามการให้ถุงพลาสติกฟรีกับลูกค้า และให้เก็บเงินหากลูกค้าที่ต้องการให้ใส่ถุงพลาสติกด้วย
ปัจจุบันมีสินค้าพลาสติกชีวภาพอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ประกอบกับภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติกหรือการผลิตพลาสติกเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอนวัตกรรม เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกด้วย ตั้งแต่วัสดุในภาคเกษตร เช่น ตาข่ายกันดิน คลุมพืช ถุงขยะทิ้งเศษเหลืออาหาร บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไข่ไก่ ถุงชา ถาดใส่อาหาร ขวด PET กล่องอาหารสำหรับรูปแบบเดลิเวอรี่หรือซื้อกลับบ้าน ฯลฯ สิ่งทอ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กล่าวว่า พลาสติกชีวภาพถือเป็นช่องทางธุรกิจรูปแบบใหม่สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งผู้ประกอบการจากประเทศไทยเองที่ควรจะใช้ข้อได้เปรียบทางด้านการมีวัตถุดิบสำหรับพลาสติกชีวภาพเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกและกำลังการผลิตระดับผู้นำโลก จึงมีศักยภาพในการผลิตพลาสติกที่ทำจากพืช (Bio-based plastic)
ขณะเดียวกันบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น ได้ออกนโยบายบริษัทในการควบคุมการใช้พลาสติกให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตพลาสติก รวมถึงธุรกิจอาหารเครื่องดื่มของไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออกในระยะยาวเช่นกัน หากยังใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมอยู่
ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมของภาครัฐให้ผู้ประกอบหันมาผลิตพลาสติกชีวภาพมากขึ้นแล้ว ผู้ส่งออกในปัจจุบันอาจต้องพิจารณาปรับตัวและวางแผนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในระยะยาว โดยเฉพาะการให้ความสนใจในด้านนวัตกรรมการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซน์ที่สวยงาม ตอบสนองความต้องการของประเทศผู้ซื้อและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบันให้ยั่งยืนต่อไป
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมสินค้าไลฟ์สไตล์ชีวภาพเพื่อการส่งออก ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปราศจากของเสียและมลพิษในกระบวนการผลิต และมีดีไซน์ที่ทันสมัยตรงกับความต้องการของตลาดโลก เพราะขณะนี้สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่เป็นความตระหนักในจิตสำนึกของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนวิถีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และสินค้าในชีวิตประจำวันต่อไปในอนาคต