อพท. ชูเกณฑ์ 5 ด้าน100 ข้อ กระตุ้นชุมชนพัฒนาตัวเอง พุ่งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และเกิดการพัฒนาประชาชนในระดับฐานราก
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. มุ่งเป้าทำงาน 2 เรื่องสำคัญ คือ การสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการดำเนินการให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย การดำเนินงานทั้ง 2 เรื่องสำคัญของ อพท.นั้นเป็นไปเพื่อต้องการใช้กลไกลการจัดการการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และเกิดการพัฒนาประชาชนในระดับฐานราก
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัมนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อพท. เป็นเสมือนหน่วยงาน “ผู้อำนวย” หรือ “ผู้ชี้ทาง” เพราะเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ในการเป็นแนวทางของการพัฒนาชุมชนเพื่อทำท่องเที่ยว ซึ่งหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐาน จะช่วยให้การพัฒนาเป็นระบบ และเกิดขึ้นบนพื้นฐานความต้องการและศักยภาพของชุมชน จากฐานทุนทางด้านวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ
อพท.ทำงานโดยยึดเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนจากเกณฑ์ 5 ด้าน 100 ข้อ เพราะมีกลไกด้านบริหารจัดการที่นำมาจัดการทรัพยากรของชุมชนให้นำไปสู่การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรควบคู่กันไปได้ ส่วนรูปแบบคือใช้การมีส่วนร่วม คือร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์
ในการทำงาน อพท. จะเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมาย พูดคุยกับชุมชน และให้ชุมชนประเมินตัวเองจากเกณฑ์ ซึ่งมี 5 ด้าน100 ข้อ เช่น ด้านบริหารจัดการ ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านบริการและความปลอดภัย เป็นต้น เมื่อประเมินชุมชนก็จะรู้ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร มีอัตลักษณ์ ชาติพันธ์ หรือประเพณีวัฒนธรรมอะไร เพราะทุกอย่างคืออัตลักษณ์ที่แตกต่าง ที่จะสร้างเป็นจุดขายเสนอแก่นักท่องเที่ยวให้ได้เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ ที่สำคัญชุมชนเจ้าของพื้นที่เมื่อประเมินแล้วก็จะเห็นคุณค่าของตัวเอง และจะได้พัฒนาคุณค่านั้นให้เกิดเป็นมูลค่า เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งตามรูปแบบที่ อพท. ดำเนินการ นอกจากการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ยังต้องก่อให้เกิดการแบ่งปัน
หลักของ อพท. จะไม่ทำงานเพียงลำพัง นอกจากชุมชนซึ่งเป็นหัวใจหลักแล้ว อพท. ยังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับภารกิจที่จะพัฒนาเพื่อได้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันพัฒนาให้ความรู้ชุมชน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ กรมการพัฒนาชุมชนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมท่องเที่ยว สถาบันการศึกษาทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐานที่รับรู้การทำงานร่วมกัน มีการคืนรายได้สู่สังคม และสินค้าหรือกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นมานั้น ต้องเป็นความต้องการของตลาด สามารถเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวได้จริง
ปัจจุบันนอกจากชุมชนต้นแบบ 14 แห่ง ใน 6 พื้นที่พิเศษ อพท. ยังมีชุมชนที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาอีก 120 ชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ใน 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ครอบคลุม 37 จังหวัด และขณะนี้ชุมชนดังกล่าว อพท. พัฒนาได้มาตรฐานและเสนอขายได้จริงแล้วถึง 81 ชุมชน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางไปในแต่ละชุมชน ได้ ขณะที่บริษัทนำเที่ยว ก็สามารถบรรจุชุมชนท่องเที่ยวที่ผ่านการพัฒนาได้มาตรฐานแล้วนั้นไปใส่ในโปรแกรมทัวร์ เสนอขายแก่นักท่องเที่ยวได้อีกเช่นกัน
ตัวชี้วัดความสำเร็จจากการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ของ อพท. คือ ชุมชนต้องมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น จากการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนของตัวเอง ชุมชนต้องมีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และมีกองทุนที่ได้เงินอุดหนุนจากรายได้ที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน
ที่สำคัญคือชุมชนมีความเข้มแข็งมีความสามัคคี มีการกระจายรายได้ กระจายผลประโยชน์ เมื่อได้ทุกอย่างครบตามตัวชี้วัด อพท. ก็จะออกจากพื้นที่ ให้ชุมชนบริหารจัดการตัวเอง จากองค์ความรู้และความเข้มแข็งที่มีต่อไป