การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์มีส่วนในการสร้างขึ้น กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักและต่อเนื่องถึงมนุษยชาติผู้ก่อเหตุ ทำให้ปัจจุบัน มนุษย์ต้องมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ เพื่อทำให้โลกกลับมาอยู่ในสภาพใกล้เคียงเดิม หรือในสภาพที่มนุษย์ในอนาคตใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ
ก่อนหน้านี้ เราได้เรียนรู้ว่า “ก๊าซเรือนกระจก” คืออะไร ประกอบด้วยอะไร และมีผลอย่างไรต่อมนุษย์โลก ตอนนี้ เราต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องของ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “Project Base” หรือในระดับโครงการ เป็นกลไก “ภาคสมัครใจ” ที่มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” อาทิ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อน โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ
เมื่อรู้ว่า “คาร์บอนเครดิต” คืออะไรแล้ว ก็ต้องมาเรียนรู้อีกว่า มันจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเราอย่างไร และเราต้องทำอะไรบ้าง
เรื่องนี้ พิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย ออกมาบอกเลยว่า ตอนนี้กฎกติกาทั่วโลกเริ่มมีกฎบังคับใช้ให้รายงานเรื่องต่างๆ อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment หรือ CBAM) หากไม่ทำตาม ก็ต้องเสียค่าปรับ หรือไม่ได้นำของเข้าไปขายในประเทศเขาเลยก็ได้
หอการค้าไทย พยายามให้ความช่วยเหลือใน 3 ด้าน ได้แก่ เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรทั้งกระบวนการผลิต ตลอดจนยานยนต์เป็นพลังงานสะอาด ต่อมาเปลี่ยนการใช้พลังงานให้เป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น ทั้งหมดนั่นคือเรื่องที่ภาคเอกชน ทั้งรายเล็กรายใหญ่ต้องปรับตัว ซึ่งก็ได้เห็นกันไปบ้างแล้วโดยเฉพาะรายใหญ่
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ที่เปลี่ยนชื่อมาจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมื่อปี พ.ศ. 2566 แต่เดิมจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535) อยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. และอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะได้เห็นร่างฉบับแรกภายในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ การควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม การจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก
ระหว่างรอ พ.ร.บ.ฉบับนี้คลอด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้จัดทำแพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร หรือ Carbon Footprint for Organization Platform หรือ CFO Platform เพื่อส่งเสริมให้องค์กรมีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์ระดับองค์กรเพิ่มขึ้นอและใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตามเป้าหมายที่ประเทศไทยได้ตั้งไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ครั้งที่ 26 ว่า จะเป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608
- รายงานประเมินการปล่อยคาร์บอน
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนระจก (อบก.) หรือ TGO อธิบายถึงการจัดทำ CFO Platform ว่า แพลทฟอร์มนี้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะช่วยเพิ่มความสะดวก และลดความซับซ้อนให้ภาคเอกชน ที่ต้องการประเมิน และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร โดยการรวบรวมข้อมูลและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยในแต่ละกระบวนการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงวัตถุดิบที่ซื้อในห่วงโซ่อุปทาน โดยสามารถใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มนี้ส่งให้กับหน่วยงานตรวจสอบเพื่อรับรองตัวเองได้ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานคาร์บอนฟุตพริ้นต์ กลายเป็นข้อสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจ นอกเหนือจากผลกำไร
CFO Platform เป็นเรื่องของความสมัครใจ จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ เพราะหากไม่มีการปรับตัวจะกระทบเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะในแถบยุโรปและสหรัฐฯ จะมีปัญหาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เรื่องนี้อาจสร้างแรงกดดันต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า และขณะนี้ได้ขยับมามีผลต่อการปล่อยเงินกู้ของธนาคารแล้ว
- รัฐต้องหนุน ปรับปรุงกฎหมาย
พิชัย กล่าวว่า รัฐบาลควรกำหนดมาตรการสนับสนุน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเร่งการขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น เปิดให้มีการทำธุรกิจเสรี มีการแข่งขันการผลิตไฟฟ้าสีเขียว เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล การใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุน เช่น ลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนทั่วไปในการเปลี่ยนผ่าน และสนับสนุนการผลิตสินค้ารักษ์โลก
รัฐควรมีมาตรการเรื่องภาษี ผลักดันกลุ่มสินค้ารักษ์โลก ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 1,000 บริษัท ที่สนใจเข้าร่วมติดฉลากสินค้ารักษ์โลก
นที สิทธิประศาสสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า COP28 ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่าตัวภายในปี พ.ศ.2573 ขณะที่แผนพลังงานชาติของประเทศไทยยังมีเป้าหมายที่กำกวมและไม่ชัดเจน
อีกสิ่งที่สำคัญที่ภาครัฐควรเร่งทำคือ การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะในกิจการพลังงานและไฟฟ้าที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี
การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ ต้องมีทางเลือกให้ผู้บริโภค หัวใจสำคัญที่จะคิดภาษีคาร์บอนได้นั้นจะต้องเปิดเสรีไฟฟ้าเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้ว ระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการพลังงานและไฟฟ้า จะกลายเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว