CIMB Thai เดินตามบริษัทแม่ ประกาศเพิ่มเป้าหมายเงินส่งเสริมความยั่งยืนเป็น 1 ล้านล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาท ภายใน ปี 2567
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวในงานสัมมนา The Cooler Earth Summit : Sustainability Conference 2023 Thailand หัวข้อ “เปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อโลกที่ดีกว่า” จัดขึ้นแบบ hybrid ที่ UNCC พร้อม LIVE สด วันที่ 18 ก.ย.66 ว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน เพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา ปี 2566 มนุษย์พบความท้าทาย ปัญหาทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม VUCA (Volatility-Uncertainty-Complexity-Ambiguity) ทั่วโลก เหตุการณ์ภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากมาย ความร้อนแผดเผาครอบคลุมหลายพื้นที่ของยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ในฮ่องกง
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่น่ายินดีคือ เราเห็นคนคำนึงถึงความยั่งยืนในชีวิตประจำวันมากขึ้น ธนาคารในฐานะภาคธุรกิจ จำเป็นต้องให้แน่ใจว่าเราตอบสนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และในฐานะธนาคารมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม การดำเนินธุรกิจตามวิถีความยั่งยืนไม่เพียงพอ แต่ต้องมีส่วนผลักดันให้ผู้อื่นลงมือทำด้วย
กลุ่มซีไอเอ็มบี และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนามรับในหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ (UNEP FI Principles for Responsible Banking) ซึ่งได้ประกาศเพิ่มเป้าหมายเงินส่งเสริมความยั่งยืน (sustainable finance) เป็น 1 ล้านล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาทภายใน ปี 2567
CIMB Thai กำหนดเป็นวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ประกอบด้วย
1.ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงคำศัพท์ แต่เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ ได้ฝังอยู่ใน DNA ของชาว CIMB Thai ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนและการสร้างวิสาหกิจที่ยั่งยืน ใน TCE Summit ล่าสุดที่มาเลเซีย กลุ่มซีไอเอ็มบี ได้ตั้งเป้าหมายขยายวงเงินส่งเสริมด้าน Sustainability ไว้ที่ 1 แสนล้านริงกิต (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) หลังจากบรรลุเป้าหมาย 3 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 143 ล้านเหรียญสหรัฐเร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี สะท้อนว่ากลุ่มซีไอเอ็มบี มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการและความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ สำหรับ CIMB Group ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงส่วนเสริมแต่เป็นรากฐานเพื่อสร้างและเตรียมพร้อมเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
2.การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรม CIMB ขับเคลื่อนองค์กรด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจน พยายามยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน และต้องให้มั่นใจว่าผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ เคารพสิทธิมนุษยชน ปี 2566 CIMB Thai เป็นหนึ่งในธนาคารไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่ได้พัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุม
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบสถานะผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชน จากผู้ขายไปจนถึงระดับลูกค้า ให้มั่นใจว่าผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชนต้องลดลง การประชุม TCE Summit ครั้งที่ 4 ของ CIMB เมื่อปี 2565 หัวข้อ ‘Facilitating a Just Transition’ วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องนี้
ผู้แทนพิเศษจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ว่าเราจะสามารถเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรมสำหรับทุกคนได้อย่างไร การพัฒนาทักษะสีเขียว(Green Skills)และงานสีเขียว (Green Jobs) การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่สมดุลกันระหว่างผู้คนและโลก
3. ร่วมมือกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เรามักมองหาความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนที่มีใจเดียวกัน เพื่อขยายพลังของความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใคร หน่วยงานไหน แก้ปัญหาได้เพียงลำพัง หากร่วมมือกันเราก็ทำได้ สร้างประโยชน์ให้เกิดกับทุกคน เป็นเหตุผลว่าทำไม CIMB เราส่งเสริมกรอบความคิดในการทำงานร่วมกันในบุคลากรของเรา ส่วนหนึ่งของค่านิยมภายในชื่อ‘EPICC’ ตัวอย่างสำคัญ ของการรวมพลังคือ โครงการ ‘Run to Win’ พนักงาน CIMB Thai และบริษัทในเครือวิ่งสะสมระยะเพื่อระดมทุนบริจาคให้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สิ่งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างกำไรให้ธนาคาร แต่ร่วมแรงร่วมใจทำเพื่อสังคม
“ผมอยากเน้นย้ำว่าความยั่งยืนไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่องต้องทุ่มเท มีวิสัยทัศน์ และเต็มใจที่จะปรับตัวสู่ความท้าทายใหม่ๆ หากร่วมมือกัน เราจะพลิกธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ให้พรุ่งนี้มีความเท่าเทียม ยืดหยุ่น และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผมขอฝากถ้อยคำของมหาตมะ คานธี ‘The future depends on what you do today.’ อนาคตขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทำวันนี้ ขอให้พวกเราคว้าโอกาสนี้ สร้างอนาคตที่สดใสด้วยกัน” นายพอล วองกล่าว