ซีพีเอฟ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต และร่วมปกป้องทะเลโลก เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดจากปัจจุบันอยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในประเทศไทย ภายในปี 2565 พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิต ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญและมีบทบาทร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งเน้นสร้างสมดุลระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลง 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558
ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือเทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ถึง 60 ล้านต้น (300,000 ไร่) และในปีนี้ มีแผนยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในประเทศไทยทั้งหมด โดยใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลทดแทน ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกมากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
การใช้พลังงานและการจัดการของเสีย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซีพีเอฟ จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการมูลสัตว์และน้ำเสีย และการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพและแสงอาทิตย์ เพี่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง สอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)
โรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟ 37 แห่ง มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตทั้งหมด 20 เมกะวัตต์ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่มากกว่า 100 แห่ง ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่งได้ถึง 69 ล้านหน่วย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 492,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และในปีนี้ มีเป้าหมายลดการใช้ถ่านหินเป็นศูนย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการในอีก 3 โรงงาน ที่จะทดแทนด้วยพลังงานชีวมวล ทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้จากเดิมอีกมากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายประสิทธิ์ กล่าวถึง ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการก๊าซเรือนกระจก และส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ (Robotics) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการผลิตและขนส่ง เพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบ น้ำ พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่เข้าถึงได้ สร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ได้ประกาศนโยบายลดปริมาณขยะอาหารในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯให้เป็นศูนย์ ในปี 2573
เช่นเดียวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Low – Carbon Products)ของบริษัท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองฉลากลดโลกร้อนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ประกอบด้วย อาหารไก่เนื้อ ไก่มีชีวิต เป็ดมีชีวิต สุกรขุน เนื้อไก่สด เนื้อเป็ดสด และเนื้อหมูสด ซึ่งผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำทั้งหมด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,483,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยในปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์สีเขียวอยู่ที่ 33 % และคาดว่าในปี 2573 จะมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียวอยู่ที่ 40% สำหรับกิจการในประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทฯมีส่วนร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้ประกาศความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า ผ่านนโยบายที่บริษัทได้ประกาศไว้ รวมถึงกำหนดเป้าหมายในการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง โดย 100% ของการจัดหาทั่วโลกของซีพีเอฟจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาจากพื้นที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2573
ในด้านการมีส่วนร่วมรักษาสมดุลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวม 20,000 ไร่ ผ่านการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ คือ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี และ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ในส่วนของธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทฯ มุ่งมั่นปกป้องทะเลโลก ผ่านการดำเนินโครงการขยะทะเล (Ocean Trash Project) ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” นำโดยกรมประมงและสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ที่ส่งเสริมและรณรงค์ให้ชาวประมงลดการทิ้งขยะลงสู่ทะเล และเก็บขยะจากกิจกรรมประมงขึ้นฝั่ง โดยในปี 2564 ได้ร่วมกับโรงงานปลาป่นเจดีพีในจังหวัดตรัง และชาวประมง ต่อยอดโครงการด้วยการนำขยะพลาสติกจากขวด PET ที่เก็บจากทะเล แปรรูปเป็นเส้นใยพลาสติก ผลิตเป็นเสื้อโปโล รีไซเคิล แจกให้พนักงานซีพีเอฟ และในปีนี้มีแผนจะผลิตเพิ่มอีก นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ป่าชายเลน ได้ริเริ่มโครงการกับดักขยะทะเล (Trap The Sea Trash Project) นำร่องพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เพื่อลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเล และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดการขยะทะเล สร้างมูลค่าเพิ่มของขยะทะเลและปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ
22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program : UNEP) โดยปี ค.ศ.2022 ภายใต้แนวคิด Invest in our planet ลงทุนให้โลกของเราไปด้วยกัน เพื่อร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกคนสามารถทำได้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกของเรา คือ ลงมือทำอย่างจริงจัง สร้างสรรค์ และนำไปปฏิบัติอย่างเท่าเทียม