ดานอน ประเทศไทย ชู Danone Impact Journey ขับเคลื่อนธุรกิจตามพันธกิจด้านความยั่งยืน วางเป้าผ่าน 3 เสาหลัก สิ่งแวดล้อม สุขภาพ คนและชุมชน สู่ง Net Zero 2050 ล่าสุด ลุยสร้างพลังบวกเกษตรกร ให้ความรู้พร้อมเทคโนโลยี ช่วยบริหารจัดการมูลวัว ลดคาร์บอน-มีเทน เพิ่มรายได้ต่อเนื่อง
แดนิช ราห์มัน ผู้จัดการทั่วไป ดานอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดานอน ประเทศไทย กล่าวว่า ดานอน ประเทศไทย มีแนวคิดโมเดลคู่ขนาน หรือ “Dual Project” โดยอ็องตวน รีบู (Antoine Riboud) ซีอีโอของดานอน ซึ่งประกาศไว้เมื่อปี พ.ศ. 2515 เน้นการผสานเป้าหมายทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานในการดำเนินงานของดานอน ควบคู่วิสัยทัศน์หลักขององค์กร คือ One Planet. One Health สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนตามกรอบการดำเนินงาน Danone Impact Journey หรือ DIJ ในเสาหลัก 3 ด้าน คือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผู้คนรวมถึงชุมชน ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน B Corp ระดับโลก
- Danone Impact Journey สร้างความยั่งยืน
นัฏฐ์ภัสสร ธรรมศิรารักษ์ ผู้อำนวยการแผนกโครงการปฏิบัติการและการจัดซื้อ ดานอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในผู้นำทีม Danone Impact Journey ของดานอน ประเทศไทย กล่าวว่า 3 เสาหลักของ Danone Impact Journey เริ่มจากเสาแรก “สิ่งแวดล้อม” มุ่งเน้นลดผลกระทบต่อโลก โดยมีการวัดผลจาก Certificate และ KPIs ต่างๆ เช่น ISO 50001 ด้านการจัดการพลังงาน ISO 14001 เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม และภายใน ดานอนเวิร์ดไวด์ จะมีการทำ Audit ว่า โรงงานได้ระดับ Green Audit ระดับ A
เสาหลักที่ 2 “สุขภาพ” ส่งเสริมสุขภาพด้วยการพัฒนาโภชนาการในผลิตภัณฑ์ เช่น การช่วยลดความเสี่ยงของเด็กไทยจากโรคโลหิตจาง โดยจากสถิติ WHO ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กไทย ขาดธาตุเหล็กที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับด้านสมอง สติปัญญา และความแข็งแรง ดานอนจึงพัฒนาโปรดักส์หลายตัวเพื่อตอบโจทย์ และเสาที่ 3 “คนและชุมชน” ส่งเสริมความหลากหลายและการสนับสนุนชุมชนโดยรอบ รวมถึงวัตถุดิบที่ต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ เน้นย้ำเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม ทั้ง เพศ อาชีพ อาชีพ
ดานอนจัดทำโครงการ Triple Zero ที่โรงงานดานอน นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน น้ำเสีย และขยะให้เป็นศูนย์ รวมถึงมุ่งสร้างบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนด้วยการรีไซเคิล หรือใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากนี้ ดานอนเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน B Corp ซึ่งมาตรฐาน “B Corp เป็นมาตรฐานรับรององค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สวัสดิการพนักงาน ไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานและวัตถุดิบที่ใช้
- แนะเกษตรกรจัดการมูลวัวสร้างรายได้
ส่วนอีกเรื่องที่เริ่มดำเนินการในปี 2024 คือ นม ซึ่งอุตสาหกรรมนมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน (CH4 ) ที่มาจากมูลวัว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก
ดานอนค่อนข้างเข้าถึงฟาร์ม ทำโปรเจคกับเขา หลักๆ ปีนี้จะทำเรื่องอาหารสัตว์ เพื่อให้วัวสามารถให้น้ำนมได้มากขึ้น และอีกโปรเจคใหญ่ คือ การจัดการมูลวัว โดยจะเข้าไปแนะนำให้ความรู้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากมูลวัว เรื่องวัวเป็นเรื่องใหม่ หลักๆ เราเรียนรู้จากโกลบอล ทางเมืองนอก ในฝรั่งเศส โมร็อคโค ซึ่งมีการเทรดดิ้งและแชร์ริ่ง จากข้อมูลที่มีแล้วนำมาประมวลผลและประเมิน เรื่องการจัดการวัว ที่จะช่วยลดคาร์บอนและก๊าซมีเทนได้เยอะมาก
“บ้านเราเขาเลี้ยงวัว จะปล่อยให้วัวถ่ายแล้วหนึ่งเดือนมาเก็บที เราไปสร้างลานตากให้เขา ให้เขาโกยมาตากแดด พอมันเริ่มแห้ง คาร์บอนและมีเทนจะน้อยลง หลังจากนั้นเกษตรกรสามารถนำไปขายสร้างรายได้เพิ่มได้อีก”
อีกเรื่องคือการจัดการอาหาร ดานอนกำลังศึกษาว่าเขาใช้อาหารอะไรในการเลี้ยงวัว ข้อเสียของไทย คือ อากาศค่อนข้างร้อน เลยได้ผลผลิตน้ำนมน้อย จึงหันมาปรับปรุงอาหารวัว เข้าไปเรียนรู้กับกรมปศุสัตว์ ถ้าเปลี่ยนจากฟาง เป็นข้าวโพด จะดีกว่าอย่างไร เริ่มต้นดานอนจะให้เงินเกษตรกรก่อน เพื่อเป็นทุน แต่เมื่อเกษตรกรได้เงินจากการขายมูลวัว เขาจะไปบริหารเรื่องอาหารสัตว์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 10 เดือน โดยเริ่มจากฟาร์มที่สระแก้ว ทำกับสหกรณร์วังน้ำเย็น เป้นไพรอทโปรเจค 50 ฟาร์มจาก 400-500 ฟาร์ม
นัฏฐ์ภัสสร กล่าวว่า การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ด้านสิ่งแวดล้อม ดานอน ประเทศไทยเริ่มวัดผลจริงจังจากปี 2023 ทำเป้าหมายแรกถึงปี 2030 ต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนให้ได้ 30% รวมทั้งลดการใช้พลังงาน และเป้าหมายสุดท้าย คือ ปี 2050 เป็น Net Zero โดยในแต่ละปีทางโกลบอลจะตั้งเป้าให้ เช่น ปี 2024-2025 ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ปีละ 1.5 หมื่นตันคาร์บอน และแต่ละโปรเจคจะมีการวัดผลต่อเนื่อง
“ตอนนี้เราเริ่มวัดผลปี 2023 กลางปี บางอันก็ตามเป้า บางอันเกินเป้า และบางอันยังไม่ถึงเพราะเพิ่งเริ่ม เราจะวางโรดแมป อย่างไรก็ตาม ปี 2024 ถือว่าได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้แล้ว ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ”