โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ. ระยอง ของ SCGC รับโล่เกียรติคุณจาก BEDO ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืน
น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า SCGC ได้รับโล่เกียรติคุณจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-Based Economy Development Office : BEDO) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการนำแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services: PES) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประเมินคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้ประยุกต์ใช้กับโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง เพื่อให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Emergency ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมทั้งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและวิกฤตทางอาหารได้ในที่สุด SCGC จึงดำเนินโครงการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล ผ่านโครงการ ‘ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง’ และ ‘โครงการบ้านปลา SCGC’ มาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี
โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เขายายดา จ.ระยอง สามารถเพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศทั้งบนบกและในทะเลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหัวใจสำคัญเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนรอบเขายายดา ถือเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลแกลง สถานีวิจัยป่าต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนในการบริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services: PES) เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่าง SCGC ชุมชนรอบเขายายดา หน่วยงานราชการท้องถิ่น และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำบริเวณเขายายดาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และคำนวณตามมาตรฐานสากลเพื่อให้เห็นมูลค่าของระบบนิเวศที่ได้รับการฟื้นฟูต่อผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าระบบนิเวศบริการ หรือ PES ของป่าต้นน้ำเขายายดา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาทต่อปี”
เขายายดาตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 28,900 ไร่ มี แต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดเล็กและใหญ่ขึ้นปะปนกัน และมีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ต่อมาพื้นที่นี้กลับกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่มีเรือนยอดเพียงชั้นเดียว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้ง ภายหลังจากการดำเนินการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านมาบจันทร์ และชุมชนอื่น ๆ รอบเขายายดาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี อย่างต่อเนื่อง
ตามโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ จาก SCGC ได้แก่ การสร้างคน-สร้างกติกา-เก็บน้ำ-เก็บข้อมูล พบว่าในปี 2565 ป่าต้นน้ำเขายายดาให้น้ำท่าในลำธารรวมผลผลิตเกือบ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาโดยการสำรวจและแปรภาพถ่ายทางอากาศ พบพื้นที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์และ มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น โดยพบพรรณไม้ถึง 120 ชนิดพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 123 ชนิด อีกทั้งยังพบว่ามีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยกว่า 40 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่
งานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) มีภารกิจสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio Economy) โดยในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “BEDO-BGC Society Forum เศรษฐกิจชีวภาพ สร้างสรรค์ สร้างอนาคต” มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา เครือข่ายความร่วมมือและวิสาหกิจชุมชนกว่า 5,000 คน ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ควบคู่กับการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสำนักงานฯ มีแผนการนำแนวคิดมูลค่าระบบนิเวศบริการไปขยายผลในพื้นที่อื่น ผ่านเครือข่ายชุมชนต่อไป