Sea จัดกิจกรรมส่งเสริมเด็กผู้หญิง ก้าวสู่อาชีพ STEM

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:7 Minute, 5 Second

Sea เล็งเห็นความพร้อม และโอกาสการก้าวสู่เส้นทางอาชีพ STEM ที่ยั่งยืนของเพศหญิง หลังพบมีเพียง 29.2% เท่านั้นที่เป็นแรงงานหญิง ทั้งๆ ทั้งทักษะความสามารถไม่แตกต่างจากเพศชาย เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมทางอาชีพ ขยายโอกาสการทำงานและการเติบโตในสาขาอาชีพอย่างยั่งยืน ให้หญิงไทยในอนาคต

สาขาอาชีพ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เป็นกลุ่มอาชีพที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะรากฐานของพัฒนาการของนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จำนวนของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM นั้นยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย

รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศประจำปี 2566 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า จากการจ้างงานทั้งหมดในกลุ่มอาชีพ STEM มีเพียง 29.2% เท่านั้นที่เป็นแรงงานหญิง แตกต่างจากการจ้างงานในสายอาชีพนอกกลุ่ม STEM ซึ่งมีแรงงานหญิงมากถึง 49.3% หรือเกือบครึ่งของการจ้างงานทั้งหมด

นอกจากนั้น การศึกษาและงานวิจัยอีกหลายชิ้นยังพบว่า เด็กผู้หญิงในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น มักจะมีความสนใจด้าน STEM ในระดับเดียวกับเด็กผู้ชายวัยเดียวกัน แต่จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เนื่องจากพบความท้าทายในระดับปัจเจกและสังคม ที่อาจจะทำให้การจินตนาการถึงอนาคตสาย STEM เป็นไปได้ยากสำหรับเด็กผู้หญิง

Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา ช้อปปี้ และซีมันนี่ เห็นถึงความต้องการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในโลกของ STEM จึงได้ร่วมกับ InsKru คอมมูนิตี้แบ่งปันไอเดียการสอนสำหรับคนรักการเรียนรู้ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันเดินหน้าโครงการ Women Made: Girl in STEM เพื่อเปิดมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่กำลังค้นหาตัวเองในการเลือกเส้นทางการศึกษาต่อสาขาอาชีพ STEM

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบ Day Camp ประกอบด้วย “เวทีเสวนา” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์จริงจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ STEM รวมถึงกิจกรรม “ห้องสมุดมนุษย์” (Human Library) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยอย่างเป็นกันเอง กับคนทำงานจริงในแวดวง STEM หรือเรียกว่าพี่ต้นแบบ 9 อาชีพ ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ นักวิจัยนาโนเทคโนโลยี วิศวกรเสียง นักนิติวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เภสัชวิทยาภูมิคุ้มกัน วิศวกรการบินและอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เพื่อทำความรู้จักกับการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ทั้งเส้นทางการศึกษา แนวทางการทำงาน รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ

ชนิตา อนุวงศ์ โปรแกรมเมอร์, Agile Coach, Software Development Coach จาก ODDS Team และหนึ่งในพี่ ๆ ต้นแบบจากกิจกรรม “ห้องสมุดมนุษย์” (Human Library) ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Women Made: Girl in STEM ว่า สายงานทางด้านโปรแกรมเมอร์มีโอกาสให้เติบโตได้มากมาย เนื่องจากทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการปฏิบัติงานและดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการออกแบบแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งต่างต้องการผู้เชี่ยวชาญในสายงานด้านโปรแกรมเมอร์ทั้งสิ้น

ปัจจุบัน พบว่าผู้หญิงให้ความสนใจอาชีพนี้มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นของผู้หญิงคือ มีความละเอียดในการทำงานและทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยคนที่จะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพนี้จะต้องเป็นคนที่คิดอย่างเป็นระบบ แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งด้านคณิตศาสตร์แบบหาตัวจับยากก็ได้ จุดเด่นของอาชีพนี้คือความยืดหยุ่นในการทำงาน และทำงานได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เรียกได้ว่าไม่มีวันเกษียณอายุ เนื่องจากประสบการณ์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุงาน รวมถึงรายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ดร.สกลกฤษณ์ เอกจักรวาล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมนิติวิทยาศาสตร์ (ประเทศไทย) (Forensic Science Training Center) กล่าวว่า นักนิติวิทยาศาสตร์เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ ใช้ในการอธิบายและพิสูจน์หลักฐานในกระบวนการยุติธรรม แม้การเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์อาจจะดูน่าเบื่อสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา แต่หากคิดว่าจะนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปต่อยอดในด้านใดต่อ จะทำให้นักเรียนเกิดความสนุกกับการเรียนได้มากขึ้น ดังเช่นตนที่มีความถนัดในวิชาฟิสิกส์ และในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ก็ได้ค้นพบว่าความรู้ทางด้านฟิสิกส์สามารถนำมาปรับใช้กับการประกอบอาชีพตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ อาทิ การตรวจสอบวิถีของกระสุนปืน การตรวจจับความเร็ว ฯลฯ เพื่อใช้อธิบายคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีข่าวหรือละคร ที่ทำให้เด็กสนใจทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งนี้ เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายความสามารถในการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างทัดเทียมกัน โดยปัจจุบัน บุคลากรทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังถือว่าขาดแคลน

อาจารย์มานะ อินทรสว่าง จากโรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนศึกษานารี ซึ่งเป็นโรงเรียนนักเรียนหญิงล้วน โดยจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในการปูพื้นฐานให้นักเรียนทำงานได้จริง เพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างนวัตกรรมของตนเอง หรือเรียกว่าเป็นนวัตกร โดยทางโรงเรียนพยายามหาองค์ความรู้จากหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยเสริมความรู้และพัฒนาการเรียนการสอนให้น่าสนใจ อาทิ การร่วมมือกับ สวทช. รวมไปถึงหน่วยงานภาคเอกชน ทั้งนี้ คุณครูเองก็มีบทบาทความสำคัญมากเช่นกันในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยไม่จำเป็นต้องรอการสนับสนุนจากโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากนักเรียนในช่วงมัธยมศึกษาถือเป็นช่วงสำคัญในการปลูกฝังความคิดและความสามารถ โดยเฉพาะด้าน STEM ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ

อาจารย์หนึ่งฤทัย ธีระอรรถ โรงเรียนวิสุทธิกษัตรี สมุทรปราการ กล่าวว่า โครงการ Women Made: Girl in STEM เป็นประโยชน์แก่นักเรียนอย่างมาก กล่าวคือ ทำให้นักเรียนได้เปิดโลกและประสบการณ์ ผ่านการสัมผัสและพูดคุยกับพี่ ๆ ต้นแบบซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในแวดวง STEM ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และสามารถนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปถ่ายทอดต่อในห้องเรียนได้ เพราะฉะนั้น กิจกรรมในรูปแบบนี้จึงควรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียนแก่เยาวชน

ด.ญ.จันทราภา จูนก หรือน้องเกรซ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ 3 โรงเรียนจ่านกร้อง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรม Women Made: Girl in STEM ยังรู้สึกไม่มั่นใจกับอาชีพที่ตัวเองวาดฝันไว้ในอนาคต จึงขอมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาว่าอาชีพที่คาดหวังนั้นเหมาะกับตนเองหรือไม่ ซึ่งอาชีพที่ตนคาดหวังไว้ ได้แก่ เภสัชกร และครู โดยเอนเอียงไปทางอาชีพครูสอนวิชาเคมี หลังจากเข้าร่วมงานดังกล่าว ทำให้ตนได้รับแง่คิดในการเลือกสายอาชีพให้กับตัวเอง นอกจากนี้ การพูดคุยกับพี่ต้นแบบในอาชีพอื่น ๆ เช่น สายงานนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิศวกรการบินและอวกาศ ยังทำให้ได้ข้อคิดอีกมากมาย ทั้งการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและการเลือกอาชีพที่ต้องไม่กดดันตัวเองจนเกินไป โดยจะนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อค้นหาว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับตนเองต่อไป

ด.ญ. ปิ่นมณี นุชารัมย์ หรือน้องปิ่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบัวหลวงวิทยาคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ความตั้งใจที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือ ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่หลากหลาย และต้องการโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนต่อและการทำงานในอนาคต ซึ่งหลังจากได้มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากได้รับความรู้แล้วยังได้ค้นพบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งยังมีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่โดยไม่มีถูกผิด

“ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะเป็นคุณหมอและคุณครู ซึ่งพี่ ๆ ต้นแบบ ก็ได้แนะนำจนทำให้น้องได้แง่คิด ได้เห็นโลกกว้างขึ้น โดยมีคุณครูเป็นแรงบันดาลใจ เนื่องจากคุณครูที่โรงเรียนน้องสอนวิทยาศาสตร์สนุก สอนละเอียด จึงอยากจะเป็นแบบคุณครู น้องชอบการทดลองวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีความท้าทายและเห็นผลจากการทดลอง ส่วนข้อคิดและแรงบันดาลใจหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ ทำให้มีความกล้าแสดงออก กล้าคิดกล้ามากขึ้น”

กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสนใจในสาขาวิชา STEM ให้มีความมั่นใจที่จะเรียนต่อและประกอบในสายงานนี้ตามความสนใจ ที่สำคัญ ยังช่วยให้คุณครูเข้าใจถึงแนวทางการสนับสนุนเด็กผู้หญิงให้มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อ เพื่อช่วยขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและความเท่าเทียมกันในสังคม

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. ขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero 2065

มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดปริมาณขยะ ปลูกป่า 800 ต้น พร้อมร่วมโครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ “แยกเพื่อให้ง..พี่ไม้กวาด” ฉลองครบ 800 สาขา เผย ล่าสุด คว้าใบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรประจำปี 2567 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รับเป้าหมาย Net Zero ปี 2065

You May Like